ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

หนังตาตก




ผศ.นพ.ศักรินทร์  อัษญคุณ

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-204-R-00

 อนุมัติวันที่ 27 สิงหาคม 2563


      

        หนังตาตก  (Ptosis) เป็นภาวะที่หนังตาหรือเปลือกบนตกลงมาต่ำกว่าปกติ อาจตกลงมาเพียงเล็กน้อยไปจนถึงตกลงมาจนปิดรูม่านตา ทำให้ระดับของหนังตาบนทั้ง 2 ข้างดูไม่เท่ากัน อาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ซึ่งโดยปกติแล้วหนังตาบนจะต้องคลุมตาดำไว้ประมาณ 2 มิลลิเมตร ถ้าตกลงมามากกว่านั้นจะทำให้มองเห็นตาดำน้อยกว่าปกติ และอาจส่งผลกระทบต่อระดับการมองเห็นได้


อาการหนังตาตก

       -        หนังตาบนตกลงมาคลุมตาดำมากกว่าปกติ อาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง

       -        ระดับการมองเห็นลดลง

       -        หากสาเหตุเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) อาจทำให้เห็นภาพซ้อน แขนหรือขาอ่อนแรง พูด หายใจหรือกลืนลำบาก

       -        กรณีหนังตาตกตั้งแต่กำเนิด อาจพบภาวะตาเหล่ หรือตาขี้เกียจได้

        อาการ “หนังตาตก” อาจมีลักษณะดูคล้ายกับ “หนังตาหย่อน” ซึ่งหนังตาหย่อนมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังและกล้ามเนื้อเปลือกตาบนลดลง ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณเปลือกตายืดหย่อนห้อยลงมา มักพบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งอาจเกิดจากเชื้อชาติและกรรมพันธุ์


สาเหตุ


        สาเหตุของภาวะหนังตาตก อาจแบ่งได้เป็นกลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด และกลุ่มที่เป็นภายหลัง

        โดยกลุ่มที่เป็นตั้งแต่กำเนิด หรือหนังตาตกในเด็กแรกเกิด มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ที่ใช้ในการลืมตาฝ่อผิดปกติมาแต่กำเนิด โดยเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และส่งผลให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้

        ส่วนกลุ่มที่เป็นภายหลัง อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณเปลือกตา หรือระบบประสาทตา หากเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อมีสาเหตุมาจากหลายๆ ประการ เช่น อุบัติเหตุบริเวณเปลือกตา เปลือกตาอักเสบ และกล้ามเนื้อเปลือกตาอ่อนแรง หรือเกิดจากพฤติ- กรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อตายืดหรือบาดเจ็บ เช่น ภูมิแพ้เยื่อตา ขยี้ตาบ่อย ปัญหาจากการใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานๆ และภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหรือทำศัลยกรรมที่ไปกระทบต่อกล้ามเนื้อในการลืมตา สาเหตุจากอายุที่มากขึ้นก็ทำให้กล้ามเนื้อยืดออกจากที่ยึดเกาะเดิมจนความสามารถในการยกหนังตาอ่อนแรงไป หากเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทเส้นที่ 3 หรือก้อนเนื้องอกทับเส้นประสาทตา ทำให้หนังตาตกหรืออ่อนแรงลงได้



การตรวจและการรักษาภาวะหนังตาตก


        การตรวจหาภาวะหนังตาตกนี้ หากเป็นกรณีที่ควรไปพบแพทย์ทันที คือ มีอาการหนังตาตกกะทันหัน รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะรุนแรง เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อใบหน้า แขนหรือขาอ่อนแรง ตาอักเสบ โดยแพทย์จะซักประวัติและอาการของผู้ป่วย และอาจมีการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งการรักษาสามารถทำได้ตามสาเหตุ เช่น การให้ยา การประคบร้อนหรือเย็นขึ้นกับสาเหตุ การผ่าตัดยกหนังตาตา หรือการสวมแว่นตาสำหรับผู้ที่มีหนังตาตกโดยเฉพาะ


        หนังตาตกเป็นภาวะที่เกิดเฉพาะในรายบุคคล บางสาเหตุไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการตนเองหรือคนรอบข้าง ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการเกิดภาวะหนังตาตกในเด็ก นอกจากนั้นการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยให้ได้รับคำแนะนำในการดูแลดวงตาที่ถูกต้องจากจักษุแพทย์ รวมทั้งสามารถตรวจประเมินโรคทางตาเพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป