ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

น้ำตาไหลผิดปกติ





ผศ.นพ.ศักรินทร์ อัษญคุณ

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-205-R-00

อนุมัติวันที่ 27 สิงหาคม 2563


 

        โดยปกติแล้วน้ำตาจะถูกสร้างมาจากต่อมน้ำตาหลักที่อยู่ในเบ้าตาด้านบน และต่อมน้ำตาย่อยที่กระจายอยู่บริเวณเยื่อตาขาว น้ำตามีประโยชน์ต่อดวงตาเป็นอย่างมาก ซึ่งในภาวะปกติ ดวงตาจะมีน้ำตามาเคลือบไว้อยู่ตลอด เวลาในระดับหนึ่ง เพื่อให้ความชุ่มชื้นต่อดวงตา ช่วยหล่อลื่นเวลากระพริบตา และช่วยให้การหักเหของแสงเป็นไปอย่างราบรื่นและแม่นยำ ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็นที่ชัดเจน


        น้ำตาที่ถูกสร้างออกมานี้ จะถูกจะถูกระบายออกไปทางท่อน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตา ซึ่งท่อระบายนี้จะเปิดในโพรงจมูกข้างเดียวกัน จะเห็นได้ว่าในภาวะที่มีการสร้างน้ำตามาก เช่น เวลาร้องไห้ มักจะมีน้ำมูกไหลลงคอด้วย ซึ่งความจริงแล้วเป็นน้ำตาที่ถูกระบายผ่านท่อน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูกนั่นเอง

สาเหตุของน้ำตาไหลผิดปกติ


โดยสาเหตุหลักจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ



1. น้ำตาถูกสร้างออกมามากกว่าปกติ


        คือ ภาวะที่มีการกระตุ้นเส้นประสาทรับรู้ความรู้สึกบริเวณดวงตาหรือรอบดวงตา หรือภาวะที่ทำให้มีการระคายเคืองต่อดวงตา เช่น ผงฝุ่นละอองเข้าตา ต้อลม ต้อเนื้อ ขนตาเก หรือการอยู่ในที่ที่มีสภาวะอากาศแห้ง ลมแรง ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามากกว่าปกติได้ 


 

2. น้ำตาถูกระบายออกไปไม่ได้


        คือ ภาวะที่มีการตีบตันของท่อระบายน้ำตา อาจเกิดได้ตั้งแต่รูเปิดของท่อน้ำตาบริเวณหัวตาไปจนถึงท่อน้ำตาที่อยู่ในโพรงจมูก สาเหตุของการตีบหรืออุดตันของทางเดินน้ำตาอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของทางระบายน้ำตา การใช้ยาหยอดบางอย่างเป็นระยะเวลานาน อายุที่มากขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ


        การที่ท่อทางเดินระบายน้ำตาอุดตัน เปรียบได้เหมือนท่อระบายน้ำหลังบ้านอุดตัน ทำให้เกิดมีน้ำขังในบ้าน ถ้ามีขยะของเสีย ก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งเต็มบ้าน ดวงตาก็เช่นกัน เมื่อท่อน้ำตาอุดตัน อาจจะทำให้มีการติดเชื้อ ก่อให้เกิดเยื่อตาอักเสบหรือถุงน้ำตาอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้



การรักษา


          หากพบว่ามีภาวะน้ำตาไหลผิดปกติจนเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน จักษุแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพของดวงตาว่ามีระดับน้ำตามากผิดปกติจริงหรือไม่ ถ้ามีมากกว่าปกติจริง จะทำการตรวจหาสาเหตุว่ามีสิ่งใดกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกที่จะทำให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามาก ถ้าพบว่าเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ แพทย์จะทำการรักษาตามต้นเหตุ เช่น มีเศษฝุ่นผงหรือขนตาติดอยู่ในเยื่อตา จะดำเนินการเอาออก หรือหากพบว่าเป็นต้อลม ต้อเนื้อ อาจรักษาโดยให้ยาหยอดตา และแนะนำให้หลีกเลี่ยงฝุ่น ลม แสงแดด เป็นต้น


          ในกรณีที่ไม่พบสาเหตุของการกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำตาออกมามากกว่าปกติ จักษุแพทย์จะทำการตรวจดูระบบการระบายน้ำตาว่าสามารถระบายน้ำตาออกสู่โพรงจมูกได้ตามปกติหรือไม่ เช่น การล้างท่อน้ำตา (Irrigation) และการแยงท่อน้ำตา (Probing) เพื่อดูว่าภาวะการระบายน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในทางเดินน้ำตา ว่าสามารถไหลลงโพรงจมูกได้ปกติดีหรือไม่ เมื่อพบว่ามีการอุดตันตำแหน่งไหนในระบบทางระบายน้ำตา อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดในตำแหน่งที่อุดตันนั้น

  

ข้อมูลอ้างอิง- บทความเรื่อง น้ำตานอง อาบ(สอง)แก้ม ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่