อ.พญ.เคียงญาดา ยาคล้าย
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
รหัสเอกสาร PI-IMC-210-R-00
อนุมัติวันที่ 24 กันยายน 2563
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ โดยสามารถประเมินได้ง่ายๆ 2 วิธี คือ
1. การวัดเส้นรอบเอว คือ ผู้ชายควรมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร หรือ 36 นิ้ว และผู้หญิงควรมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้ว
2. ค่าดัชนีมวลกาย BMI (Body Mass Index) เป็นการคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูงของแต่ละคน โดยมีสูตร คือ น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร)2 ซึ่งมีเกณฑ์ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชีย ดังนี้
- น้ำหนักน้อย คือ BMI < 18.5 kg/m2
- น้ำหนักปกติ คือ BMI 18.5 – 22.9 kg/m2
- น้ำหนักเกิน คือ BMI 23 – 24.5 kg/m2
- โรคอ้วน คือ BMI 25 – 29.9 kg/m2
- โรคอ้วนรุนแรง คือ BMI ≥ 30.0 kg/m2
น้ำหนักน้อย (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.50)
ภาวะผอมหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อาจเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะทุพโภชนาการ การสูบบุหรี่เป็นประจำ การใช้สารเสพติดหรือการเจ็บป่วย อันอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุร่วมและวางแผน การรักษาอย่างเหมาะสม
ในกรณีของผู้หญิงที่ผอมอาจมีผลให้รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีบุตรยาก มีโอกาสเป็นหมันสูงขึ้น และหากตั้ง ครรภ์ก็อาจแท้งหรือมีบุตรที่ไม่แข็งแรงได้ ดังนั้น การเพิ่มน้ำหนักให้ปกติก่อนตั้งครรภ์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากความผอมจะนำมาซึ่งสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนต่อไปในอนาคตได้มากกว่าคนทั่วไป และเมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้มีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อระหว่างการเจ็บป่วยอย่างรวดเร็ว เป็นผลทำให้ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยได้ช้ากว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
น้ำหนักปกติ (ดัชนีมวลกาย 18.50 - 22.99)
น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมีรูปร่างสมส่วน ซึ่งต้องพยายามดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนักไว้ในระดับเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนและครบหมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย
น้ำหนักเกิน หรือรูปร่างท้วม (ดัชนีมวลกาย 23.00-24.99)
ภาวะน้ำหนักเกินและอาจนำไปสู่ภาวะอ้วน แสดงถึงการที่เริ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้หากมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อมและกระดูก รวมถึงโรคอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้น เคล็ดลับสำหรับภาวะน้ำหนักเกิน จึงมี 3 งด 3 ลด และ 3 เพิ่ม ดังนี้
3 งด - งดขนม งดมัน และแอกอฮอล์
3 ลด - ลดแป้ง น้ำตาล และเครื่องดื่มรสหวาน
3 เพิ่ม - เพิ่มผัก ปลา ธัญพืช
โรคอ้วน (ดัชนีมวลกาย 25.00-29.99)
การมีน้ำหนักสูงกว่ามาตรฐาน ก่อให้เกิดไขมันส่วนเกินมากกว่าปกติ ซึ่งสามารถไปสะสมในแต่ละส่วนของร่างกายตั้งแต่ระดับชั้นใต้ผิวหนัง ตามผนังเส้นเลือด และเกาะที่ตับได้ นำมาสู่ภาวะอ้วนลงพุง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันโลหิตสูงเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังอาจเป็นเหตุของข้อเข่าเสื่อม โรคเก๊าท์ และโรคเส้นเลือดสมอง จนถึงการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่ามีสาเหตุอื่นร่วมให้เกิดภาวะอ้วน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมอีกครั้ง รวมทั้งมีเคล็ดลับสำหรับโรคอ้วน คือ 3 สกัด 3 สะกิด และ 3 สะกดใจ ดังนี้
3 สกัด - สิ่งกระตุ้นที่ทำให้หิว
3 สะกิด - ให้คนรอบข้างช่วยเตือนเรื่องการดูแลอาหารและกระตุ้นให้ออกกำลังกาย
3 สะกดใจ - ไม่ให้บริโภคเกินขนาด และลดปริมาณจากการรับประทานปกติ
โรคอ้วนรุนแรง (ดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 30)
การมีน้ำหนักเข้าเขตอันตราย ทำให้มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหลายๆ อย่าง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ (อันนำไปสู่ภาวะตับแข็งได้) โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคเก๊าท์ ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ 5 เท่า โรคหลอดเลือดสมองที่นำไปสู่อัมพฤกษ์ อัมพาตและอัลไซเมอร์ เสี่ยงต่อการมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ 3 เท่า อ้วนลงพุงเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ 2.1 เท่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นโรคอ้วนรุนแรง จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และควรต้องลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ซึ่งหัวใจสำคัญของการลดน้ำหนักอย่างถาวร คือ รับประทานอาหารไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดปริมาณอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน เน้น ผัก ปลา และธัญพืช รวมทั้งเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงโรคต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ