อนุมัติวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
โซเดียม คืออะไร
โซเดียม เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่ง มีหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของน้ำ กรด-ด่าง ในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต ร่างกายมีการขับโซเดียมได้ 3 ทาง ได้แก่ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ ตามลำดับ ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ตับแข็ง ประสิทธิภาพในการขับโซเดียมจะลดลง ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของโซเดียมในเลือด
ระดับโซเดียมปกติในเลือด ระดับปกติ 135-145 mEq/L
ระดับโซเดียมต่ำในเลือด ระดับปกติ < 135 mEq/L เพลีย ไม่มีแรง
ระดับโซเดียมสูงในเลือด ระดับปกติ > 145 mEq/L กระหายน้ำ เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย
อาหารและโซเดียมสำคัญอย่างไร
การควบคุมโซเดียมในอาหารจะลดการคั่งของโซเดียมในเลือด ช่วยรักษาสภาวะน้ำในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ ลดภาวะบวมน้ำ ควบคุมและป้อง กันความดันโลหิตสูง รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
คนปกติมักรับประทานเกลือ 3,000-7,000 มิลลิกรัมต่อวัน อาหารจำกัดโซเดียมเป็นอาหารที่มีโซเดียมน้อยกว่าที่คนปกติบริโภคหรือปริมาณโซเดียม ≤ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบกับเกลือ 1 ช้อนชา
โซเดียมอยู่ที่ไหนบ้าง
โซเดียมพบน้อยตามอาหารโดยธรรมชาติ และพบมากใน อาหารหมักดอง เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น
เครื่องปรุงรสที่มีเกลือมาก (รสเค็มจัด)
เกลือเม็ด เกลือป่น น้ำปลา ซอสหอย น้ำมันหอย ซีอิ้วขาว ซีอิ้วขาวเจ เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ทุกชนิด (แท่งสีแดง/ แท่งสีขาว/ สีนวล/ มีเมล็ดถั่วอยู่ด้วย) น้ำบูดู น้ำปลาร้า น้ำกะปิ ถั่วเน่า ผงปรุงรส ซุปก้อน ซุปผง น้ำพริกสำเร็จรูป (ใช้คลุกข้าว เช่น น้ำพริกแมงดา) น้ำพริกแกง (เช่น แกงส้ม แกงเผ็ด ฯลฯ) น้ำพริกแจ่ว น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า ฯลฯ
เครื่องปรุงรสที่มีหลายรส แต่มีเกลืออยู่ด้วย
ซอสตรากระต่าย (Worcester sauce) ซอสตราไก่งวง (เปรี้ยวเค็ม) ซอสพริก (เปรี้ยวเผ็ดเค็ม) น้ำจิ้มไก่ย่าง น้ำจิ้มสุกี้ยากี้
อาหารดองเค็ม ทั้งเค็มจัด และเค็มไม่จัด
ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปูเค็ม หอยดองเค็ม ปลาเค็มไม่จัด (แดดเดียว) กุนเชียง หมูแฮม หมูเบคอน ไส้กรอก ไส้อั่ว ผักดองเค็ม เช่น ตั้งฉ่าย หัวไชโป้ว ผลไม้ดองเค็ม (เช่น ลูกบ๊วยเค็ม ลูกหนำเลี๊ยบ) อาหารดองเปรี้ยว (รสเปรี้ยวนำ แต่มีรสเค็มแฝง) เช่น แหนม ปลาส้ม ปลาเจ่า กระเทียมดอง หน่อไม้ดอง ผักเสี้ยนดอง ต้นหอมดอง ถั่วงอกดอง ฯลฯ
กินอย่างไรให้ได้รับโซเดียมพอเหมาะ เมื่อถูกจำกัดโซเดียม
- ควรกินอาหารหลักจากธรรมชาติ เช่น ข้าว ปลา ผัก ผลไม้ เป็นหลัก ที่ไม่ได้แปรรูป ไม่ผ่านการดองเค็ม การหมักดอง (เปรี้ยวและเค็ม)
- ควรใช้เกลือป่นเพื่อปรุงรสเค็มได้ วันละไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาไม่เกิน 3 ช้อนชา หรือซีอิ้วขาวไม่เกิน 6 ช้อนชา และไม่เก็บส่วนของเกลือหรือน้ำปลาที่ควรใช้ต่อมื้อหนึ่ง ไปรวมอีกมื้อหนึ่ง เช่น ควรแบ่งใช้เกลือมื้อละ 1/3 ช้อน ไม่ควรเก็บเกลือทั้งหมดรวม 1 ช้อนชา ไปใช้ในมื้อสุดท้ายของวัน
กินอย่างไร ห่างไกลโซเดียม
- ไม่ควรใช้เครื่องปรุงรสที่ไม่ทราบปริมาณโซเดียม อ่านฉลากอาหาร ดูปริมาณโซเดียมก่อนซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมน้อย
- เลี่ยงรับประทานอาหารดองเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม หอยดองน้ำปลา ฯลฯ อาหารหมักดอง (เปรี้ยวและเค็ม) เช่น ปลาส้ม แหนม ฯลฯ และอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง หมูแผ่น หมูหยอง ฯลฯ เนื่องจากอาหารเหล่านี้มักมีโซเดียมมาก และไม่ทราบปริมาณโซเดียมชัดเจน
- เลี่ยงรับประทานอาหารที่มีผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมท) ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
- เลี่ยงรับประทานอาหารที่ใส่ผงฟู (โซเดียมไบคาร์บอเนต) เช่น ขนมอบต่างๆ เค้ก คุกกี้ พาย ฯลฯ
- ควรหาวิธีการปรุงประกอบอาหารที่มีการปรุงหลากหลายรส เช่น เปรี้ยวนำ อ่อนเค็ม อ่อนหวานบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เกลืออย่างเดียวจำนวนมาก เช่น แกงต้มส้ม ต้มยำ ต้มโคล้ง ปรุงรสอ่อนสลับการการรับประทานแค่แกงจืด
- ดัดแปลงสูตรอาหาร เช่น น้ำพริกแกงส้ม (ใส่แต่พริกแห้ง หอมแดงมากได้ ควรงดกะปิหากจำเป็นควรใส่แต่น้อย)
- เลี่ยงเติมเกลือในอาหารโดยไม่จำเป็น เช่น กินผลไม้สด เช่น สับปะรด ฝรั่ง ส้มโอ มะม่วง ฯลฯ ไม่ต้องจิ้ม “พริกกะเกลือ” รับประทานข้าวโพดต้มโดยไม่ต้องชุบน้ำเกลือ รับประทานกล้วยบวชชีหรือทำน้ำกะทิ หยอดขนม ไม่ต้องเติมเกลือ
- หากซื้ออาหารนอกบ้านรับประทาน ควรชิมอาหารก่อนปรุงรสทุกครั้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า สุกี้น้ำ และเลี่ยงการซดน้ำซุปหรือน้ำแกงในปริมาณมาก เพราะมักมีเกลือโซเดียมสูง สามารถเลือกรับประทานเป็น ก๋วยเตี๋ยวแห้ง สุกี้แห้ง ข้าวผัด แทน
เทคนิคการประกอบอาหารจำกัดโซเดียมให้ชวนรับประทาน
แนะนำใช้สมุนไพรเป็นสารแต่งกลิ่นอาหาร จะทำให้อาหารที่ปรุงรสอ่อนเค็มชวนกิน เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ ใบสะระแหน่ กระชาย รากผักชี ขิง ผักชี พริกไทยดำ ลูกจันทน์ พริกไทยสด ดอกชมจันทร์ ลูกผักชี ลูกกระวาน ยี่หร่า ใบกระวาน อบเชย กานพลู
อย่างไรก็ตาม พบว่าสมุนไพรบางชนิด เช่น ใบแมงลัก ผักชี มีโพแทสเซียมสูงมาก จึงควรใช้ปรุงอาหารด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีปัญหาระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง
ใบแมงลัก : ควรใช้ปริมาณน้อย เช่น เมื่อทำขนมจีนน้ำยาใช้ใบแมงลักเพียง 3-4 ยอด
ผักชี : เมื่อใช้แต่งกลิ่น ให้ใช้ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ควรกินปริมาณมากแบบเป็นผักจิ้ม เครื่องจิ้ม น้ำพริกหรือน้ำปลาหวาน
แหล่งข้อมูล
- Nutrition in chronic Hemodialysis ,Textbook of Hemodialysis โดย รศ.ชวลิต รัตนกุล
- อาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง โดย ดร. ชนิดา ปโชติการ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่