ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การรักษาโรคหัวใจและการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด



อ.นพ.ศุภเดช สุจริตรักษ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด

รหัสเอกสาร PI-IMC-202-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566


        การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีการรักษาได้หลายวิธี ได้แก่ การให้ยารับประทาน  การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจหรือบายพาส รวมทั้งการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด

 

        การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยการใช้บอลลูนและขดลวด” 


        เป็นวิธีการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ให้เลือดสามารถกลับมาไหลเวียนได้โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่
โดยใช้วิธีการสอดสายสวนหัวใจชนิดพิเศษเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจแล้วทำการถ่างขยายส่วนที่ตีบ และอาจใช้ขดลวดชนิดพิเศษที่เรียกว่า Stent ทำการค้ำยันเพื่อไม่ให้เกิดการตีบซ้ำ ซึ่งการรักษาทั้งสองวิธี อาจสรุปได้ดังนี้



การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใช้บอลลูน (Balloon Angioplasty)

 

        การรักษาวิธีนี้ คือ การสอดสายสวนหัวใจชนิดบอลลูนไปยังตำแหน่งที่ตีบของหลอดเลือด โดยการใช้ลวดตัวนำผ่านบริเวณหลอดเลือดที่ตีบแคบ ซึ่งลวดตัวนำจะมีบอลลูนขนาดเล็กติดตั้งบริเวณส่วนปลายของสายดังกล่าว จากนั้นทำการถ่างขยายบอลลูนออก ณ ตำแหน่งหลอดเลือดตีบแคบ ทำให้แผ่นไขมันแบนราบลง ส่งผลให้เลือดไหลผ่านเป็นปกติ เมื่อหลอดเลือดได้รับการถ่างขยายจนเป็นที่น่าพึงพอใจแล้วก็จะนำบอลลูนและลวดตัวนำออก


การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีใส่ขดลวด (Coronary Stent Implantation)  


        การรักษาวิธีนี้ เป็นการถ่างขยายโดยใช้ขดลวดค้ำยันผิวหลอดเลือดแดงหัวใจ โดยวิธีการคล้ายคลึงกับการถ่างขยายหลอดเลือดแดงหัวใจด้วยบอลลูน แต่นำขดลวดโลหะปราศจากสนิมเข้าไปหุ้มรอบบอลลูน และเมื่อถ่างขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูน ขดลวดก็จะกางออกและกดเบียดแผ่นไขมันให้แบนราบลง เมื่อนำบอลลูนออกไปหลอดเลือดนั้นจะไม่สามารถหดกลับมาได้เพราะมีขดลวดค้ำยันอยู่



การเตรียมตัวก่อนการขยายหลอดเลือดหัวใจ


         วิธีการเตรียมตัวก่อนมาตรวจนั้น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะแจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยทราบเพื่อเตรียมตัวให้ถูกต้อง เช่น การงดน้ำและอาหาร 4-6 ชั่วโมงก่อนได้รับการตรวจ หรืออื่นๆ ซึ่งระยะเวลาในการทำประมาณ 1-2 ชั่วมง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและพยาธิสภาพของโรคของผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญหากรู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการอ่อนแรงแขนขาเฉียบพลัน ในขณะทำหัตถการ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อจะได้ทำการแก้ไขอาการได้อย่างทันท่วงที


        เมื่อกลับไปอยู่บ้าน ต้องระวังไม่ให้แผลโดนน้ำเป็นเวลา 3-7 วันหรือจนกว่าแผลจะแห้ง ไม่ต้องทำแผล ยกเว้นมีอาการบวม แดง หรือผิดปกติ รวมทั้งจะได้รับยาต้านเกร็ดเลือดหรือยาต้านเลือดแข็งตัว เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดกลับมาอุดตันบริเวณหลอดเลือดแดงหัวใจซ้ำ ซึ่งยาดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในบางคราวอาจต้องให้นานร่วมปีหรือตลอดไปแล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์ ดังนั้น ควรรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำที่ได้รับอย่างเคร่งครัดห้ามหยุดยาด้วยตนเองเด็ดขาด และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ แต่หากบริเวณแผลมีลักษณะ ปวด บวม แดง มีหนอง มีไข้ขึ้น หรือมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อย ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด เพื่อตรวจหาสาเหตุและความผิดปกติที่เกิดขึ้น

 

        

ข้อมูลอ้างอิง

คู่มือให้คำแนะนำสำหรับการถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่