อ.นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง
รหัสเอกสาร PI-IMC-198-R-00
อนุมัติวันที่ 27 สิงหาคม 2563
ในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางด้านโรคสมองและระบบประสาทเป็นจำนวนมาก โดยมีกลุ่มอาการแสดงที่หลากหลายแตกต่างกัน แม้บางทีเป็นโรคเดียวกันก็มีอาการและความรุนแรงที่ต่างกันได้ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ กลุ่มอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งอาจเป็นแบบเรื้อรังหรือว่าแบบฉับพลันก็ได้ โดยการเกิดอาการทั้งสองกรณีมีโรคที่เป็นสาเหตุที่ต่างกัน อาการปวดศีรษะดังกล่าวอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ก้อนเนื้อในสมอง การติดเชื้อ หรือสาเหตุอื่น ทั้งในศีรษะและอวัยวะข้างเคียง เช่น ไซนัส กระบอกตา กล้ามเนื้อ โดยหากเป็นโรคที่มีความผิดปกติในสมองจะพบมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการอ่อนแรง หรือชาแขนขาแบบครึ่งซีก ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว กลืนลำบาก เวียนศีรษะ การทรงตัวผิดปกติ ขี้หลง ขี้ลืม ความรู้สติลดลง อาการใดอาการหนึ่งได้ ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ซึ่งหากพบว่ามีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา จะลดความเสียหายและสามารถป้องกันการเกิดโรคได้
กลุ่มอาการขี้หลงขี้ลืม เป็นโรคฮิตในผู้สูงวัยในปัจจุบัน เช่น โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง อาการกลุ่มความจำผิดปกตินี้มีหลายสาเหตุที่สามารถรักษาได้ เช่น เกิดจากยาที่มีฤทธิ์กดประสาท ภาวะซึมเศร้า ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน สมดุลเกลือแร่ผิดปกติ โรคตับและโรคไต เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา
กลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่พบบ่อยที่สุดเป็นเรื่องของอาการสั่น ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่ ความจริงแล้วยังมีอีกหลายโรค เช่น การสั่นที่เกิดจากยา หรือการที่มีก้อนในเนื้อสมองในตำแหน่งที่ควบคุมอาการสั่นหรือการทรงตัว ควรรีบตรวจรักษาเพื่อให้มีบุคลิกที่ดีและความมั่นใจอีกครั้ง
กลุ่มอาการชา อ่อนแรง เป็นกลุ่มที่พบบ่อย เกิดได้ทั้งจากความผิดปกติส่วนกลางและส่วนปลาย บางครั้งยากต่อการแยกโรค อาจต้องใช้การตรวจเพิ่มหลายอย่างเพื่อวินิจฉัยและรักษา
กลุ่มอาการสุดท้าย คือ อาการชัก ซึ่งโรคนี้ก็พบได้บ่อยและเป็นอันตราย มีผลต่อคุณภาพชีวิต การชักมีหลากหลายรูปแบบ บางครั้งนอกจากการเกิดอาการเกร็งกระตุกทั้งตัวแล้ว ยังอาจมาด้วยอาการวูบ หมดสติ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หากรู้สาเหตุและควบคุมได้ดี จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
การตรวจวินิจฉัยโรคสมอง
สำหรับสมองและระบบประสาท เนื่องจากเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านในร่างกาย ดังนั้น ในการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะใช้วิธีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และพิจารณาการรักษาว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคใด ซึ่งการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจะเป็นไปตามชนิดของโรคที่อาจสงสัย เช่น หากแพทย์สงสัยโรคลมชัก อาจพิจารณาทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) หากมีอาการชา อ่อนแรง สงสัยโรคกลุ่มประสาทส่วนปลายและกล้ามเนื้อ จะตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยเพิ่ม คือ Nerve conduction study และ Electromyography (EMG) ในกลุ่มโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม และในกลุ่มโรคที่สงสัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นในศีรษะ เช่น จากการมีก้อนเนื้องอกหรือการอักเสบ แพทย์จะใช้การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT) หรือคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) เพื่อให้เห็นความผิดปกติที่เกิดภายในกระโหลกศีรษะ
การทำ CT หรือ MRI
การสั่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมจะพิจารณาตามความจำเป็น ซึ่งใช้ประกอบในการวินิจฉัยโรคเพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้เร็วและถูกต้อง ทำให้ได้รับการรักษาได้เร็วและมีประสิทธิภาพ
สำหรับเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-scan) เป็นการตรวจโดยใช้รังสีเอ็กซ์ฉายผ่านอวัยวะในมุมต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นภาพตัดขวาง แล้วนำมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อให้สร้างภาพ ใช้เวลาในการทำไม่นาน การเข้าเครื่องในระยะเวลาสั้นๆ จะทำให้ได้รับรังสีบ้าง แต่อยู่ในระดับปลอดภัย
ส่วนเอ็กซเรย์สะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการตรวจโดยอาศัยการสะท้อนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการดูการเคลื่อนไหวของโปรตอนเท่านั้น ไม่ได้รับรังสีและมีความปลอดภัยสูง ภาพที่ได้มีความละเอียดสูง เหมาะกับการตรวจระบบประสาทสมองและเนื้อเยื่อต่างๆ
ปัจจุบันอวัยวะหลายๆ ส่วนของร่างกายสามารถเปลี่ยนหรือทดแทนได้ ยกเว้นสมอง ซึ่งสมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและมีความสำคัญมากของร่างกาย ดังนั้น จึงควรดูแลสมองให้ดีตั้งแต่วันนี้ วิธีการดูแลง่ายๆ คือ การหลีกเลี่ยงเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว รับประทานอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอ ตรวจหาโรคประจำตัว หากมีความเสี่ยงโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด