ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน


ผศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ

สูตินรีแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-189-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566



       การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เป็นการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย ค้นหาโรคหรือการเป็นพาหะของโรคต่างๆ ที่แฝงอยู่ในร่างกาย รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการป้องกันโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากคู่สมรส และยังป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ซึ่งหากตรวจพบโรคหรือพาหะ จะได้วางแผนการดูแลรักษาต่อไป ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นตรวจความสมบูรณ์ของร่างกายและเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูก เพราะหากสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีความบกพร่องทางพันธุกรรม จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้


ตรวจอะไรบ้าง


       ในการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน แพทย์จะทำการซักประวัติทั่วไป ประวัติโรคในครอบครัว และตรวจร่างกายพื้นฐาน สำหรับการตรวจเลือดโดยทั่วไปแนะนำดังนี้


1. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อดูความเข้มข้นของเลือด


2. ตรวจธาลัสซีเมีย เพื่อประเมินว่าเป็นโรคหรือพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่ เนื่องจากโรคนี้ เป็นโรคทางพันธุกรรม สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้


3. ตรวจหมู่เลือด ABO (หมู่เลือด A,B,AB,O) เพื่อทราบหมู่เลือดของแต่ละฝ่าย


4. ตรวจหมู่เลือด Rh (Rh+ และ Rh-) โดยส่วนใหญ่คนไทยจะมีหมู่เลือด Rh+ ส่วนหมู่เลือด Rh- เป็นหมู่เลือดหายาก ถ้าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีหมู่เลือด Rh- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ เพราะการที่หมู่เลือด Rh ของคุณพ่อคุณแม่ไม่เหมือนกัน อาจมีผล ดังนี้


       - กรณีคุณแม่มีหมู่เลือด Rh- คุณพ่อมีหมู่เลือด Rh+ และลูกในครรภ์มีหมู่เลือด Rh+ เหมือนคุณพ่อ เม็ดเลือดแดงของลูกมีโอกาสเข้าไปสู่กระแสเลือดของแม่ได้ในระหว่างที่มีการหลุดลอกของตัวรก ซึ่งคุณแม่จะสร้างภูมิมาต่อต้านแอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงของลูก ลูกคนแรกจะปลอดภัย แต่ต้องระวังในการตั้งครรภ์ที่สอง


       - กรณีการตั้งครรภ์ที่สอง ถ้าลูกในครรภ์มีหมู่เลือด Rh- เหมือนคุณแม่ ก็จะไม่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก แต่ถ้าหากลูกมีหมู่เลือด Rh+ จะส่งผลให้ภูมิที่คุณแม่สร้างขึ้นจากลูกคนแรกไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกคนที่สองและคนถัดๆ ไปได้ ทำให้ลูกมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง มีภาวะซีด หรือบางรายถ้ารุนแรง อาจเสียชีวิตในครรภ์ได้


5. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและภูมิคุ้มกัน โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเลือด และติดจากแม่สู่ลูก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และอีกฝ่ายหากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แนะนำฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และหากคุณแม่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง จะต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง


6. ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน การติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ลูกพิการหรือแท้งได้ หากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แนะนำฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน


7. ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีการติดเชื้อ ควรรับการรักษา


8. ตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV) หากตรวจพบเชื้อควรรับการรักษา และหาวิธีป้องกันการติดต่อไปยังคู่สมรสและทารกในครรภ์



สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด