ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ไส้เลื่อน




อ.นพ.สุวรรณ  แสนหมี่

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร

รหัสเอกสาร PI-IMC-190-R-00

อนุมัติวันที่ 27 สิงหาคม 2563


       ไส้เลื่อน (Hernia) หมายถึง ภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะในช่องท้องเลื่อนออกนอกช่องท้อง โดยเนื้อเยื่อหรือผนังกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มและรองรับอวัยวะภายในเกิดความอ่อนแอ ส่งผลให้ลำไส้โผล่ออกมา ซึ่งมักเกิดในบริเวณขาหนีบ (Groin hernia) ผนังหน้าท้อง (Abdominal wall hernia) สะดือ (Umbilical hernia) และรอยแผลผ่าตัด (Incisional Hernia) เป็นต้น โดยการยกของหนักหรือการเบ่งลมช่องท้องเป็นประจำ ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการของไส้เลื่อนแย่ลง ส่วนการไม่ใส่กางเกงในนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องใดที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อน และเพศหญิงก็มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้เช่นเดียวกัน


สาเหตุ


        สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดไส้เลื่อน มีดังนี้


- ผนังหน้าท้องขาดความแข็งแรง โดยอาจเป็นความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือการเสื่อมลงตามอายุ ซึ่งพบในผู้สูงอายุ ที่มักมีภาวะกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องหย่อนคล้อย


- การเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การยกของหนักเป็นประจำ ไอเรื้อรัง มีการเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและเกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้องอย่างต่อเนื่อง


- อุบัติเหตุที่หน้าท้อง ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอหรือเกิดความเสียหายต่อผนังหน้าท้อง


- เคยได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เนื้อเยื่อที่ถูกผ่าตัดจะขาดความยืดหยุ่นและอ่อนแอ อาจทำให้เกิดไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัดได้

 

อาการของโรคไส้เลื่อน


-พบก้อนนูน ปูดยื่น บริเวณขาหนีบ, ถุงอัณฑะหรือผนังหน้าท้อง มันจะโผล่ออกมาขณะยืน หรือออกแรงเบ่ง และมักหายไปขณะนอนราบ



-บางครั้งก้อนนูนนั้น ไม่สามารถกลับเข้าได้เอง


-รู้สึกปวดหน่วง หรือเจ็บบริเวณที่เป็นก้อน รวมทั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงได้ เช่น ปวดลงถุงอัณฑะ หรือบริเวณต้นขา เป็นต้น

 

การรักษาและวิธีปฏิบัติหลังผ่าตัด


           ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน สามารถทำได้โดยการผ่าตัดปิดรูไส้เลื่อน และเสริมความแข็งแรงของผนังช่องท้องด้วยการใช้แผ่นตาข่ายสังเคราะห์ ในรูปแบบผ่าตัดปกติและการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งจะทำให้แผลมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวเร็ว แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังผ่าตัด คือ ไม่ควรยกของหนัก และงดการออกกำลังกายหนักๆ โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรก รวมทั้งงดการกระโดด และที่สำคัญ ไม่ควรเบ่งอุจจาระ/ปัสสาวะ เพราะอาจทำให้รอยเย็บหรือตาข่ายที่ใส่ไว้เคลื่อนหรือหลุดได้ 


           โรคไส้เลื่อน อาจไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ควรหมั่นสังเกตุอาการตนเอง เพราะผู้ป่วยที่เคยเป็นไส้เลื่อนมาแล้ว จะมีโอกาสเป็นอีกข้างหนึ่งมากกว่าผู้ที่ไม่เคยเป็น หากสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อนหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น และอาจเกิดภาวะลำไส้อุดตัน ส่งผลต่อการรักษาที่ซับซ้อนและอันตรายมากขึ้น


         ไส้เลื่อนไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา... แต่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น



สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด