ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

โรคเอ๋อในทารก รู้ได้ด้วยการเจาะเลือด




ผศ.นพ.สมพร  โชตินฤมล

กุมารแพทย์

PI-IMC-191-R-00

อนุมัติวันที่ 27 สิงหาคม 2563



       กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายระดับชาติที่จะตรวจคัดกรอง โรคเอ๋อซึ่งเกิดจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โดยภาวะนี้ส่วนมากเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของต่อมไทรอยด์ ส่วนน้อยเกิดจากมารดาขาดสารไอโอดีนหรือกินยาบางอย่างที่กดการทำงานของต่อมไทรอยด์ และโรคนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะปัญญาอ่อนได้ถ้ารักษาช้า แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาเร็วทารกก็จะเป็นปกติได้


        ความสำคัญจึงต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนทารกมีอาการ (ทารกที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการผิดปกติเมื่อแรกเกิด อาการมักแสดงเมื่อทารกอายุได้ 2-3 เดือน  ดังนั้น ทารกแรกเกิดทุกคนที่เกิดในโรงพยาบาลจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อส่งตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน อัตราการเกิดโรคในประเทศไทยปัจจุบันพบว่าสูงกว่าที่คาดไว้คือ 1 ราย ต่อทารกประมาณ 3,000 ราย (สถิติในต่างประเทศประมาณ 1 รายต่อ 5,000-8,000)  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นมากในประเทศไทยที่ต้องทำการตรวจคัดกรองหลังคลอด เพื่อจะได้วินิจฉัยและให้การรักษาได้เร็ว ยิ่งรักษาเร็ว ทารกก็จะมีโอกาสมีพัฒนาการและฉลาดตามศักยภาพของทารกปกติ


โรคเอ๋อ ตรวจกรองและรักษาอย่างไร


       โรคเอ๋อมีสาเหตุจากความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน ดังนั้น การตรวจเลือดวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมน เมื่ออายุไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงหลังคลอด (ในทารกปกติมักตรวจก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล) การตรวจจะทราบผลประมาณ 10-20 วัน ทารกที่มีผลผิดปกติจะได้รับการติดต่อให้มาพบกุมารแพทย์และตรวจเลือดซ้ำ ทารกบางคนอาจได้รับการรักษาทันที ทารกบางคนอาจต้องรอดูผลการตรวจเลือดครั้งที่สอง และทุกคนจะได้รับการนัดตรวจติดตามตามที่แพทย์พิจารณา ในทารกที่เป็นโรคเอ๋อจะได้รับการรักษาภายในอายุไม่เกิน 1 เดือน และควรได้รับการตรวจรักษาต่อเนื่องไปจนอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี ทารกบางรายสามารถหยุดยาได้หลังอายุสองปี บางรายต้องกินยาตลอดชีวิต (ยาที่รักษาเป็นไทรอยด์ฮอร์โมนทดแทนส่วนที่ขาด ราคาไม่แพง ผลข้างเคียงน้อยมาก หากกินยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง)

 

โรคเอ๋อ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ได้ตรวจคัดกรองทารกจะมีอาการอย่างไร

      

        ทารกที่เป็น โรคเอ๋อจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมเกือบทุกรายไม่แสดงอาการเมื่อแรกเกิด เมื่ออายุประมาณ 1-3 เดือน ทารกจึงจะเริ่มแสดงอาการ อาการส่วนใหญ่อาจพบว่ามีตัวเหลืองนาน ไม่ร้องกวน ทำให้ผู้ดูแลคิดว่าเป็นเด็กเลี้ยงง่าย หลับมาก ไม่ค่อยดูดนม ไม่ร้องกวน ท้องผูก สะดือจุ่น ผิวแห้ง ลิ้นโต ร้องเสียงแหบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาเมื่อโตขึ้นจะพัฒนาการช้า กล้ามเนื้ออ่อน สติปัญญาต่ำและพิการทางสมอง


        โรคเอ๋อพบบ่อยกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น การตรวจคัดกรองเลือดหลังคลอด เป็นทางเดียวที่จะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ก่อนมีอาการ และรักษาได้ก่อนที่ทารกจะมีความพิการทางสมอง

 


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

• Call center : 0-5393-6900-1

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด