ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

วุ้นตาเสื่่อม




ผศ.นพ.ณวัฒน์  วัฒนชัย

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-192-R-00

อนุมัติวันที่ 27 สิงหาคม 2563


       วุ้นตา (Vitreous) จะมีลักษณะเป็นสารใสคล้ายเจลอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง อยู่ระหว่างเลนส์และจอรับภาพ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน และช่วยพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลม เมื่อเรามอง ภาพจะผ่านแก้วตาดำ เลนส์ตา วุ้นตา เข้าสู่จอรับภาพตามลำดับ หากเส้นทางที่ภาพผ่านเข้าไปสู่จอรับภาพเหล่านี้ขุ่น ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา



       

        สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะวุ้นตาเสื่อมนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 40 ปี , ได้รับอุบัติเหตุกระแทกที่ตาหรือเคยผ่าตัดในตามาก่อน , เบาหวาน , สายตาสั้นมาก , เคยมีม่านตาหรือจอรับภาพอักเสบรุนแรง และโรคของวุ้นตาบางโรค

 

อาการ

วุ้นตาเสื่อมมีการดำเนินของโรคอยู่ 2 ขั้นตอน ดังนี้


       1. วุ้นตาเริ่มขุ่นเป็นตะกอน ซึ่งวุ้นตามีลักษณะคล้ายโครงข่ายของเส้นใยคอลลาเจน ที่มีน้ำอยู่ถึง 90% เมื่อวุ้นตาเสื่อม เส้นใยคอลลาเจนเหล่านี้จะขาดเป็นท่อนหรือหนาขึ้น รวมทั้งจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้วุ้นตาขุ่น ไม่ใสเหมือนเดิม


        ผู้มีวุ้นตาขุ่นจะเริ่มเห็นตะกอนเป็นเส้นใยหรือเส้นบางๆ คล้ายใยแมงมุม หรือจุดหรือคล้ายหมอก ลอยไปมาตามการกลอกตา เนื่องจากเมื่อกลอกตา วุ้นตาก็จะเลื่อนไปด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นตลอดเวลา แต่จะเห็นได้ในบางครั้ง เช่น เมื่อมองออกไปที่ท้องฟ้าในวันฟ้าสว่าง หรือการอ่านหนังสือ แล้วมีการกลอกตาซ้ายขวา ซึ่งทำให้วุ้นตาเลื่อนไปมามากจนสังเกตได้ง่าย เป็นต้น



วุ้นตาเริ่มขุ่นเป็นตะกอน




       2. วุ้นตาแยกชั้นออกจากจอรับภาพ ในภาวะปกติของคนอายุน้อย วุ้นตาจะเกาะยึดกับจอรับภาพแน่นทางด้านหน้า และเกาะหลวมๆ ทางด้านหลัง เมื่อวุ้นตาเสื่อมมากขึ้น จะเกิดการหดตัว และหลุดแยกตัวออกจากจอรับภาพทางด้านหลัง ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นตะกอนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว


       ในระยะนี้ บางรายจะมีอาการเห็นแสงคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลช และเห็นบ่อยขึ้นเมื่อกลอกตาไปมาในที่ที่มีแสงน้อย ซึ่งเกิดจากแรงดึงรั้งของน้ำวุ้นที่จอประสาทตา อาจมีหรือไม่มีจอตาฉีกก็ได้


       หลังจากวุ้นตาแยกชั้นออกจากจอรับภาพแล้ว ในบางรายวุ้นตาจะหดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และตะกอนในวุ้นตาจะลอยห่างออกจากจอรับภาพมากขึ้น ทำให้เห็นเงาลอยไปมาน้อยลงได้เอง โดยไม่ต้องรักษาใดๆ




วุ้นตาแยกชั้นออกจากจอรับภาพ




ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

1. เลือดออกในวุ้นตา (Vitreous hemorrhage) 




       2. จอประสาทตาฉีกขาด (Retinal break, retinal tear)

 

       3. จอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) 


       โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ เกิดในบางรายที่วุ้นตามีจุดเกาะกับจอรับภาพแน่นกว่าปกติ เมื่อวุ้นตาหดตัวแยกจากจอรับภาพ จึงดึงให้เกิดปัญหากับจอรับภาพ เช่น วุ้นตาที่เกาะแน่นบริเวณเส้นเลือดของจอรับภาพหดตัว ทำให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา ซึ่งอาจมีปริมาณมากจนต้องผ่าตัดล้างเลือดออก


       วุ้นตาที่เกาะจอรับภาพแน่น อาจดึงรั้งให้เกิดจอรับภาพฉีกขาด ทำให้เห็นแสงแฟลชถี่นับ 10 ครั้งใน 1 วัน และอาจทำให้จอรับภาพหลุดลอกตามมาในภายหลัง อันจะเป็นสาเหตุให้ตาบอดได้

 

การรักษา


        เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการมองเห็น เช่น มีตะกอน เห็นจุดลอย หรือคล้ายมีหมอก แพทย์จะตรวจดูว่ามีวุ้นตาเสื่อมและภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ เช่น จอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอก ซึ่งการรักษาสามารถทำได้โดยใช้เลเซอร์ การจี้ความเย็นหรือการผ่าตัดซ่อมแซม


       การตรวจจอรับภาพ อาจต้องใช้ยาหยอดขยายม่านตา เพื่อให้ตรวจจอรับภาพได้อย่างละเอียด ยานี้มีผลทำให้ตามัวลงชั่วคราวหลายชั่วโมง อาจทำให้ผู้รับการตรวจขับรถกลับเองไม่ได้


       นอกจากการดูแลรักษาดวงตาแล้ว การรักษาสุขภาพไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน หรือการหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการออกกำลังที่เสี่ยงต่อการกระแทกตาโดยตรงโดยไม่มีการป้องกัน เช่น การชกมวย , อเมริกันฟุตบอล, รักบี้ หรือกีฬาที่ต้องมีการปะทะ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ดวงตาเสื่อมก่อนวัยอันควร

 


ข้อมูลอ้างอิง 

บทความเรื่อง น้ำวุ้นตาเสื่อม-ตะกอนในวุ้นตา-แสงแว่บในตา-จอประสาทตาฉีกขาด-จอประสาทตาหลุดลอก                                 

โดย ผศ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด