ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

อาการเมื่อคุณแม่ใกล้คลอด




ศ.พญ.สายพิณ พงษธา

สูตินรีแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-193-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566



       อาการของภาวะใกล้คลอดนี้ แสดงได้หลายอย่าง ซึ่งหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ให้เตรียมตัวมาโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นสัญญาณของการใกล้คลอด


อาการท้องลด

        อาการท้องลดและการเคลื่อนต่ำของส่วนนำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน อาจเกิดขึ้น 2 – 3 สัปดาห์ก่อนคลอด โดยเป็นภาวะที่ทารกในครรภ์เคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้ความสูงของยอดมดลูกลดลงเล็กน้อย โดยอาการนี้เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด


ปวดท้องน้อยและทวารหนัก

        การปวดท้องน้อยและทวารหนัก เป็นอาการที่ทำให้คุณแม่ทรมานไม่น้อย เพราะจะรู้สึกเหมือนโดนกดทับบริเวณขาหนีบ และปวดหลังส่วนล่างตลอดเวลา


มีมูกหรือมูกเลือดออกจากช่องคลอด

        การมีมูกหรือมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด แสดงว่าปากมดลูกอาจจะเริ่มเปิดและมีการฉีกขาดของเยื่อบุและหลอดเลือดฝอยบริเวณนั้น ทำให้มีเลือดปนออกมา หากมีอาการนี้ อาจเป็นได้ว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางราย การคลอดอาจจะเลื่อนออกไปได้อีกหลายวัน


น้ำเดิน

        น้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตก คือ มีน้ำปริมาณมากไหลออกมาจากช่องคลอด ลักษณะเป็นน้ำใสๆ ไหลออกมาปริมาณมากเหมือนการปัสสาวะ หรือบางรายอาจมีเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการสำคัญที่อาจเกิดร่วมกับการเจ็บครรภ์ หากคุณแม่มีน้ำเดินต้องรีบมาโรงพยาบาลเพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำได้


ท้องแข็ง

        ก่อนเข้าสู่การเจ็บท้องคลอดจริง คุณแม่อาจรู้สึกท้องแข็งเนื่องจากมดลูกมีการหดรัดตัว และการหดรัดตัวของมดลูกจะแรงและบ่อยขึ้น จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด


อาการเจ็บเตือน 

        อาการเจ็บเตือน คือ การที่มดลูกมีการหดรัดตัว แต่ไม่สม่ำเสมอ จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณท้องน้อย ซึ่งปวดร้าวไปด้านหลัง อาการไม่รุนแรง และจะดีขึ้นเมื่อได้พักผ่อน


อาการเจ็บท้องคลอดจริง 

        คุณแม่เริ่มเจ็บท้องคลอดเริ่มด้วยการปวดหน่วงๆ ที่หลังหรือปวดร้าวลงไปถึงต้นขา และรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัว ปวดเหมือนเวลาปวดประจำเดือนมากๆ ปวดท้องเหมือนอยากถ่ายอุจจาระ มดลูกหดรัดตัวแรงและถี่ ประมาณอย่างน้อยทุก 10 นาที และมาอย่างสม่ำเสมอ บางรายอาจจะร่วมกับการมีมูกเลือดปนออกมาหรือมีน้ำเดิน


         หากคุณแม่เริ่มมีอาการเจ็บท้องคลอดจริง โดยเจ็บนานตลอดชั่วโมง รวมทั้งเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที และทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องกังวล เพื่อการคลอดคุณภาพและความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย

 

        ข้อมูลอ้างอิง - บทความเรื่องเจ็บครรภ์ก่อนคลอด งานการพยาบาลผู้ป่วยสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด