ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG




อ.นพ.ภาณุเมศ  ศรีสว่าง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด

รหัสเอกสาร PI-IMC-195-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566



       การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) หรือ EKG คือ การตรวจความสมบูรณ์ของการทำงานไฟฟ้าหัวใจ โดยมีหลักการ คือ เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ ทั้งนี้ รูปแบบของคลื่นไฟฟ้า อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผิดปกติของหัวใจ ขณะที่หัวใจทำงานบีบตัว เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะพบว่าการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจที่ปกติจะมีรูปคลื่นไฟฟ้าเหมือนกันทุกครั้ง คลื่นไฟฟ้าเหล่านี้จะสามารถแสดงให้เห็นได้จากจอแสดงผล และบันทึกลงกระดาษกราฟเพื่อสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งส่งผลต่อภาวะเสี่ยงโรคหัวใจและการวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่มีผลต่อหัวใจ


ตรวจแบบไหน


        การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นวิธีการตรวจที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ก็สามารถทราบผลได้ โดยมีขั้นตอน คือ ผู้รับการตรวจต้องนอนนิ่งๆ บนเตียงตรวจ กรณีใส่ถุงน่องต้องถอดถุงน่องด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กวางไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย บริเวณหน้าอก แขน ขา โดยสื่อนำคลื่นไฟฟ้านี้จะมีสายต่อเข้าเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจลงบนกระดาษ จากนั้นจะนำผลให้แพทย์ประกอบการวินิจฉัยต่อไป


ประโยชน์ของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ


           -        ตรวจหาภาวะเสี่ยงโรคหัวใจ


           -        เพื่อดูการทำงานของหัวใจว่าปกติหรือไม่


-        ใช้ติดตามผลการรักษาโรคหัวใจ เช่น การผ่าตัดหัวใจ การฝังอุปกรณ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) เป็นต้น


-        ใช้ประเมินความแข็งแรงของหัวใจก่อนการผ่าตัด


 ใครบ้างที่ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ


           -        ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้สูงอายุ


           -        ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน คอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ


           -        ผู้ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คการทำงานของหัวใจว่าผิดปกติหรือไม่


           -        ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและแพทย์มีคำสั่งให้ตรวจเช็คเป็นระยะ


           -        ผู้ที่มีภาวะเจ็บแน่นหน้าอก หรือแพทย์สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด



สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด