ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การดูแลสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน



รศ.นพ.ณัฐพงศ์  โฆษชุณหนันท์ 

แพทย์ผู้เชี่ยวาญด้านต่อมไร้ท่อ เบาหวาน ไทรอยด์

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-041-R-00

อนุมัติวันที่ 20 ตุลาคม 2557



ปัญหาโรคเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน

        -  หนึ่งในหกของผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดแผลที่เท้าในช่วงของชีวิต

        -  แต่ละปีมีผู้ป่วยเบาหวาน 4 ล้านคนทั่วโลกเกิดแผลที่เท้า

        -  ทุกๆ 30 วินาที จะมีผู้ป่วยเบาหวานในโลกนี้ถูกตัดขาหนึ่งราย

        -  ในบรรดาผู้ที่ถูกตัดขา พบว่ามีสาเหตุจากโรคเบาหวานได้ถึง 70%

        -  ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสถูกตัดขามากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน 40 เท่า

        -  โรคเท้าเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล

        -  ผู้ที่ถูกตัดขาหรือเท้า ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลง

        -  การถูกตัดขามักเริ่มจากการเกิดแผลที่เท้า

        -  การเกิดแผลและการถูกตัดขา สามารถป้องกันได้โดยการดูแลเท้าที่เหมาะสม



 

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้า

    มีปัจจัยหลายประการ ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวาน ที่ทำให้มีโอกาสเกิดแผลที่เท้าได้บ่อยและเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่

        -  การเสื่อมสภาพของระบบประสาทส่วนปลายทำให้เท้าผิดรูป จึงเกิดการเสียดสีกับรองเท้าได้ง่าย และอาจลงน้ำหนักที่จุดใดจุดหนึ่งของเท้าผิดปกติ หรือการเสียความรู้สึกเจ็บที่เท้า ทำให้ไม่ทราบว่าได้รับบาดเจ็บหรือเกิดแผล จึงทำให้ขาดการดูแลและรอยโรคลุกลาม รวมทั้งความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เหงื่อลดลง ผิวหนังจึงแห้ง แตก เกิดเป็นแผลได้ง่าย

        -  ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด ทำให้เท้าเกิดภาวะขาดเลือดและแผลหายช้า

        -  น้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้ระบบภูมิต้านทานบกพร่อง แผลมีการติดเชื้อได้ง่ายและลุกลามเร็ว

        -  พฤติกรรมการดูแลเท้าที่ไม่ดี เมื่อเกิดแผลอาจลุกลามไปสู่การถูกตัดขา ทำให้เกิดความพิการ คุณภาพชีวิตแย่ลงหรือมีโอกาสเสียชีวิตได้


การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการเกิดแผลที่เท้า

        -  ผู้ป่วยต้องสำรวจเท้าทุกวัน รวมทั้งบริเวณซอกนิ้ว และอาการที่สำคัญ ได้แก่ แผล หนังด้านแข็ง ตาปลา หรือการติดเชื้อรา หากผู้ป่วยมีปัญหาทางสายตาหรือไม่สามารถก้มตรวจเท้าได้ ควรได้รับความช่วยเหลือจากญาติผู้ใกล้ชิดหรือใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น กระจกส่องเท้า (ในรายที่ไม่สามารถก้มตรวจได้)

        -  ทำความสะอาดเท้าวันละสองครั้งด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน และทุกครั้งที่เปื้อนสิ่งสกปรก รวมทั้งเช็ดเท้าให้แห้ง

        -  ถ้าผิวแห้งควรทาครีมโลชั่นบางๆ แต่ไม่ทาซอกนิ้ว เนื่องจากอาจทำให้อับชื้น

        -  ห้ามแช่เท้าในน้ำร้อน ใแต่สามารถช้กระเป๋าน้ำร้อนวาง หรือใช้เครื่องฮีทเตอร์เป่าเท้า

        -  ควรตัดเล็บตามแนวของเล็บเท่านั้น ไม่ตัดสั้นเกินไปจนถึงจมูกเล็บ รวมทั้งห้ามแคะและตัดเนื้อจนเกิดบาดแผล

        - ห้ามตัดตาปลาหรือหนังด้านแข็งด้วยตัวเอง หรือใช้สารเคมีใดๆ ลอกตาปลา

        - ห้ามเดินเท้าเปล่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะพื้นผิวที่ร้อน เช่น พื้นปูนซีเมนต์หรือหาดทราย

        -  เลือกใส่รองเท้าที่พอดี เหมาะสมกับรูปเท้า และทำจากวัสดุที่นุ่ม ใช้รองเท้าพิเศษสำหรับเท้าที่ผิดรูป

        -  หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่ทำด้วยยางหรือพลาสติก หรือรองเท้าแตะที่ใช้นิ้วคีบ

        -  ไม่ควรสวมรองเท้าใหม่เป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อเนื่องกัน ควรสวมรองเท้าเก่าสลับกับรองเท้าใหม่ จนกว่ารองเท้าใหม่จะมีความนุ่มและเข้ากับรูปเท้า และควรผึ่งรองเท้าที่ไม่ได้ใส่ให้แห้ง เพื่อลดความอับชื้น 

        -  สวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า ซึ่งถุงเท้าควรทำจากผ้าฝ้าย ไม่มีตะเข็บและไม่รัดแน่นเกินไป และควรเปลี่ยนทุกวัน

        -  สำรวจรองเท้าก่อนใส่ว่ามีสิ่งแปลกปลอมในรองเท้าหรือไม่

        -  ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี

        -  งดสูบบุหรี่

        - หากมีอาการผิดปกติของเท้า (เช่น มีแผล บวมแดง อักเสบ ปวด ชา) ควรมาพบแพทย์ หรือบอกอาการเมื่อมาติดตามการรักษาโรคเบาหวาน 



การพบแพทย์เพื่อตรวจเท้า

        - ควรบอกแพทย์เกี่ยวกับปัญหาที่เท้าเมื่อไปติดตามการรักษา

        -  หากพบว่ามีบาดแผลแม้เพียงเล็กน้อย ให้ทำความสะอาดและควรพบแพทย์ทันที

        -  ควรได้รับการตรวจเท้าโดยละเอียดจากแพทย์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

        -  เท้าที่เคยเป็นแผล  ผิดรูป ชาไม่รู้สึก มีอาการขาดเลือด หรือมีรอยโรค ควรได้รับการตรวจทุกครั้งเมื่อไปพบแพทย์

     การที่ผู้ป่วยและญาติเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลเท้า และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เป็นการป้องกันการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานได้ดีที่สุด



Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat