ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

โรคหัวใจกับการออกกำลังกาย




อ.พญ.ลลิตา ยงสมิทธ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด

รหัสเอกสาร PI-IMC-194-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566



        การออกกำลังมีประโยชน์สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสุขภาพดีหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวสามารถออกกำลังกายได้ เช่น การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ จะช่วยให้ร่างกายมีสมรรถภาพที่ดี ช่วยลดอาการต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยมีข้อควรรู้ของการออกกำลังกายกับโรคหัวใจ ดังนี้


1.  ประเภทของการออกกำลังกาย


         การออกกำลังกายแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ โดยดูตามความเหนื่อยของการออกกำลังกาย คือ


       1. Low intensity คือ การออกกำลังกายที่ความเข้มข้นต่ำ สังเกตได้ง่ายๆ คือ เมื่อเราออกกำลังกายแล้วเราสามารถพูดจบประโยคได้ในประโยคเดียว


       2. Moderate intensity คือ การออกกำลังกายที่ความเข้มข้นปานกลาง สังเกตได้โดยถ้าเราออกกำลังกายแล้วเราสามารถพูดได้ 3-4 คำ ต่อการหายใจ 1 ครั้ง


       3. การออกกำลังเป็น HIIT หรือว่า High intensity คือ การออกกำลังกายที่ความเข้มข้นสูง สังเกตได้โดยที่เราไม่สามารถพูด 1-2 คำได้ โดยที่ไม่หยุดหายใจ

 


2.  ออกกำลังกายแบบไหน ดีต่อหัวใจ


       มีการศึกษาและคำแนะนำจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจ สำหรับคนทั่วไปและคนที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง แนะนำให้ออกกำลังกาย ดังนี้


            -        ออกกำลังระดับความเข้มข้นปานกลาง  (Moderate intensity) ถึงการออกกำลังกายที่ความเข้มข้นสูง (High intensity) แนะนำที่ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยให้ออกกำลังกายต่อเนื่องกัน 15-30 นาทีต่อครั้ง


            -        ระดับการออกกำลังกายที่ความเข้มข้นต่ำ (Low intensity) ถึงการออกกำลังกายที่ความเข้มข้นปานกลาง (Moderate intensity) แนะนำให้ออกกำลังกาย 5-7 วันต่อสัปดาห์ โดยออกกำลังประมาณ 30-45 นาที


       ซึ่งการออกกำลังนี้ จะช่วยให้มีประโยชน์ต่อการรักษาและฟื้นฟูเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมอง รวมถึงการทำงานของหัวใจด้วย

 

3.  ออกกำลังกายมีข้อเสียหรือไม่


       การออกกำลังกายมีประโยชน์ แต่ทำไมจึงมีข่าวผู้ออกกำลังกายเสียชีวิตมาเป็นระยะ ทั้งนักวิ่งหรือนักปั่นจักรยาน ฯลฯ นั่นเพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากโรคประจำตัวของแต่ละคน บางครั้งอาจจะไปออกกำลังกายโดยที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วไปออกกำลังกายหนัก ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะกระตุ้นให้โรคประจำตัวหรือโรคที่ซ่อนอยู่กำเริบขึ้นมาได้ โดยหากออกกำลังกายมากๆ หรือออกกำลังกายต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ระดับความเข้มข้นถือเป็นระดับที่หนัก HIIT ก็อาจมีผลทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติได้

 

4.  เมื่อพบความผิดปกติระหว่างออกกำลังกายต้องทำอย่างไร


        ระหว่างการออกกำลังกาย หากรู้สึกมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมาก ฉับพลัน หรือว่าหน้ามืด เป็นลม เหมือนจะหมดสติ ให้รีบหยุดการออกกำลังกายนั้นทันที และให้นั่งหรือนอน รวมทั้งหากพบผู้ร่วมออกกำลังกายมีอาการเช่นนี้ ให้ประเมินอาการที่ผิดปกติ หากไม่รู้สึกตัว ให้โทร 1669 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานและประเมินอาการผู้ป่วย ถึงความรุนแรงของอาการว่าอยู่ในระดับไหน เพื่อความปลอดภัยในการออกกำลังกาย



สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด