ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด หรือ Skin prick test




อ.พญ.ธันยธร ธีรนรเศรษฐ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก

รหัสเอกสาร PI-IMC-183-R-00

อนุมัติวันที่ 23 กรกฎาคม 2563


Skin prick test คืออะไร


       การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด หรือ Skin prick test คือ การทดสอบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ชนิดไหน โดยการใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาหยดลงบนผิวหนัง และต้องไม่ให้น้ำยาที่ใช้ทดสอบสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดไหลมาปะปนกัน จากนั้นใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กเขี่ยสะกิดผิวหนังบริเวณท้องแขนเบาๆ แล้วสังเกตการแพ้ที่ผิวหนัง บริเวณที่มีหยดน้ำยาไว้ประมาณ 15 นาที หากมีตุ่มนูนขนาดใหญ่มากกว่า 3 มิลลิเมตร แสดงว่ามีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ซึ่งในผู้ทดสอบบางรายอาจมีปฏิกิริยาแพ้หลังจากหลังนั้น ประมาณ 2 – 24 ชั่วโมง หลังทำการทดสอบ


        โดยทั่วไปการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังนี้  ไม่นิยมทดสอบในผู้ป่วยเด็ก (อายุต่ำกว่า อายุ 6-8 ปี) เนื่องจากเด็กมักจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทดสอบ รวมทั้งไม่แนะนำในผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรง เนื่องจากอาจมีปฏิกิริยาแพ้ที่แสดงอาการออกมาหลายระบบ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ใจสั่น หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ และมีโอกาสเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้



การเตรียมตัวก่อนไปทดสอบ


         การเตรียมตัวสำหรับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง จะต้องงดยาแก้แพ้ทุกชนิด รวมทั้งยาที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ (Antihistamine ) ก่อนมาทดสอบ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ทางจมูก ยาแก้แพ้ผื่นคัน และงดยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด โดยหากผู้ทดสอบไม่แน่ใจว่าควรงดยาตัวไหน หรือยารักษาโรคประจำตัว สามารถสอบถามแพทย์ เพื่อจะได้เตรียมตัวให้ถูกต้อง เนื่องจากจะมีผลต่อการทดสอบ


น้ำยาชนิดไหน ใช้ทดสอบภูมิแพ้


       น้ำยาสารก่อภูมิแพ้ 14 ชนิด ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย คือ ไรฝุ่นชนิด D. farinase , ไรฝุ่นชนิด D. pteronyssinus , ฝุ่นบ้าน , ขนสุนัข , ขนแมว , ขนสัตว์ปีก , แมลงสาบ , นุ่น , ผ้าฝ้าย , เชื้อราชนิด Alternaria , เชื้อราชนิด Penicillium , เชื้อราชนิด Aspergillus , หญ้าปล้อง และ หญ้าแพรก


        หลังจากทราบผลการทดสอบสารที่ก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้แล้ว แพทย์ผู้รักษาจะนำข้อมูลนั้นมาประกอบการรักษาต่อไป รวมทั้งผู้ป่วยสามารถใช้เป็นข้อมูลในการป้องกันตนเอง โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ขนสุนัข ขนแมว ฯลฯ เพื่อสุขภาพที่ดีและส่งเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพ


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด