ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ไข้เลือดออกเดงกี





อ.พญ.ณัฐิณี ลักษณานันท์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ

รหัสเอกสาร PI-IMC-180-R-01


อนุมัติวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566



        “ไข้เลือดออกเดงกี” เป็นโรคที่พบการระบาดในฤดูฝน ในประเทศเขตร้อนและเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย  โดยเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 และมียุงลายเป็นพาหะ โดยเมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อไวรัส    เดงกี เชื้อนี้ก็จะเข้าฝังตัวในยุงและมีการฟักตัว เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่น ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือดของผู้ที่ถูกยุงกัดได้ ทั้งนี้ จะมีระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน จึงจะเริ่มมีอาการของโรค และหากผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์แรกแล้ว หลังจากนั้นหากมีแพร่ระบาดของเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่นในปีต่อไป ผู้ป่วยอาจติดเชื้อซ้ำและทำให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่าครั้งแรกได้



ปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรง


       ไข้เลือดออกเดงกี สามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ อันจะทำให้โรคมีอาการรุนแรงมากขึ้น คือ การติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ 2 (DENV-2) หรือเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง ส่วนปัจจัยเสี่ยงของตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่ อายุ ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยอายุน้อย เด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือสตรีมีครรภ์ รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ หรือไตเรื้อรัง



อาการ


       อาการของไข้เลือดออกเดงกี สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาการ ดังนี้


1. ไข้เดงกี หรือ Dengue fever


        ไข้เดงกี จะมีอาการไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับอาการปวด ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดตามตัวกล้ามเนื้อ และปวดกระดูก ร่วมกับอาจมีผื่นตามตัวหรือคลื่นไส้อาเจียน รับประทานได้น้อยหรือมีถ่ายเหลวร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะหายได้เอง และไม่รุนแรง


2. ไข้เลือดออกเดงกี หรือ Dengue hemorrhagic fever


        ไข้เลือดออกเดงกี จะมีความรุนแรงกว่าไข้เดงกี โดยผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส และไข้อาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการเลือดออก ซึ่งอาจเป็นเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เลือดออกทางเดินอาหาร หรือจุดเลือดออกตามตัว ร่วมกับตับโต กดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา ที่สำคัญที่สุดคืออาจมีการรั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือดเข้าไปอยู่ในช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่องปอด ช่องท้อง และทำให้เลือดมีความเข้มข้นสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อกได้ ซึ่งในช่วงที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะช็อก อาจมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเบาเร็ว ความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป และอาจเสียชีวิตได้




การป้องกัน


        การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ยากันยุง หรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่หรือบริเวณที่มียุงชุกชุม  นอกจากนั้นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายและลูกน้ำ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติ ส่วนผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี และมีประวัติเคยเป็นไข้เลือดออกหรือไข้เดงกีมาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้วัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในรอบต่อไป ลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด