ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ไส้ติ่งอักเสบ





อ.นพ.เอกรินทร์  ศุภตระกูล

ศัลยแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-182-R-00

อนุมัติวันที่ 23 กรกฎาคม 2563


       ไส้ติ่งอักเสบ (APPENDICITIS) เป็นโรคที่ต้องการการรักษาทางศัลยกรรมเร่งด่วนและสามารถพบได้บ่อยทั้งในผู้ใหญ่และวัยเด็ก โดยไส้ติ่งอยู่บริเวณด้านขวาของช่องท้อง ใกล้รอยต่อของลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ ลักษณะปลายข้างหนึ่งตัน และมีช่องเล็กๆ ทางปลายอีกด้านที่ต่อกับลำไส้ เมื่อเกิดการอุดตันจึงเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเติบโต จนเกิดอาการบวมและอักเสบได้


สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบ


        สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบพบว่าเกิดจากต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ส่วนโคนไส้ติ่งบวม ทำให้มีการอุดตัน หรือเกิดจากเศษอุจจาระที่แข็งตัวไปอุดรูเปิด รวมถึงพยาธิสภาพอื่น เมื่อมีการอุดตันจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและเกิดการอักเสบขึ้น


อาการ


        อาการเด่นของโรคนี้ คือ “ปวดท้อง” ซึ่งเป็นอาการที่สำคัญที่สุด โดยช่วงแรกมักจะปวดรอบๆ สะดือ หรืออาจไม่แน่ชัดว่าปวดท้องบริเวณใด ในบางรายปวดบริเวณลิ้นปี่ แต่ต่อมาอาการปวดจะชัดเจนที่ท้องน้อยด้านขวา (Right lower quadrant-RLQ) c]tdfg0H[ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ (มักจะเกิดหลังจากเริ่มอาการปวดท้องแล้วระยะหนึ่ง) เบื่ออาหาร ท้องเสีย และอาการปวดท้องอาจมีมากขึ้น จนเมื่อไส้ติ่งเริ่มแตก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยหรือทั่วท้อง ในบางรายอาจคลำได้ก้อน หรือในผู้ป่วยเด็กที่มีไส้ติ่งแตกทะลุ อาจมาด้วยอาการของลำไส้อุดตันได้


การตรวจวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบและการรักษา



         โรคไส้ติ่งอักเสบ หากมาพบแพทย์ล่าช้าหรือรักษาไม่ทันการณ์ อาจทำให้ไส้ติ่งเน่าและแตกได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง การผ่าตัดอาจต้องลงแผลผ่าตัดขนาดใหญ่กลางท้อง อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตาม การปวดท้องขวาล่าง อาจไม่ได้เป็นภาวะไส้ติ่งอักเสบอย่างเดียว อาจเป็นได้ทั้งลำไส้อักเสบ ซีสต์ในรังไข่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่หรือมดลูก ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจเพื่อรักษาได้อย่างเหมาะสมตามแต่ละโรค


         เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องและสงสัยไส้ติ่งอักเสบ แพทย์จะทำการซักประวัติ ดูอาการ รวมทั้งอาจมีการตรวจทางห้องปฎิบัติการ หรือการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ แต่หากมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันทำได้ทั้งเปิดแผลหน้าท้องขวาล่างและการผ่าตัดแบบส่องกล้อง



ข้อมูลอ้างอิง แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางศัลยกรรม ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1

• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด