อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต
รหัสเอกสาร PI-IMC-177-R-00
อนุมัติวันที่ 23 กรกฎาคม 2563
เมื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีการทำงานของไตลดลงจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย (ระยะที่ 5) ไตไม่สามารถกำจัดของเสียและน้ำที่คั่งในร่างกายได้หรือกำจัดได้น้อยมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงจากภาวะของเสีย รวมไปถึงเกลือแร่และน้ำคั่งภายในร่างกาย เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร คันตามตัว นอนไม่หลับ ขาบวม หายใจเหนื่อย ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดทดแทนไต ( Renal replacement therapy )
การบำบัดทดแทนไตเป็นวิธีในการกำจัดของเสียรวมไปถึงเกลือแร่และน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายโดยในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
2. การล้างไตทางช่องท้อง
3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาว่าจะใช้วิธีใดร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วย และความพร้อมของครอบครัวและผู้ดูแล
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมคืออะไร แตกต่างอย่างไรกับการล้างไตทางช่องท้อง ?
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือ การฟอกเลือดผ่านเส้นฟอกเลือดหรือสายสวนฟอกเลือดที่เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยนำเอาเลือดของผู้ป่วยที่มีของเสียคั่งไปฟอกผ่านตัวกรองที่เตรียมไว้ เพื่อทำการกำจัดของเสียออก จากนั้นจึงนำเลือดที่ผ่านการฟอกแล้วคืนให้แก่ผู้ป่วย โดยทั่วไปจะทำ การฟอกเลือดในโรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมครั้งละ 4 ชั่วโมง ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
ส่วนการล้างไตทางช่องท้อง เป็นการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วยเพื่อทำการแลกเปลี่ยนของเสีย ออกมาผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง จากนั้นจึงปล่อยน้ำยาล้างไตที่แลกของเสียแล้วออกมาทิ้ง ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดเพื่อใส่สายโดยปลายหนึ่งอยู่ในช่องท้อง และอีกปลายยื่นออกมาจากผนังหน้าท้องไว้เป็นทางสำหรับต่อกับถุงน้ำยาล้างไต ผู้ป่วยสามารถทำด้วยตนเองที่บ้าน โดยทั่วไปทำเฉลี่ย 4 รอบต่อวัน รอบละประมาณ 4 ชั่วโมง และต้องทำทุกวัน ในกรณีที่ผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ พยาบาลจะฝึกให้ญาติสามารถทำแทนได้
โดยการรักษาทั้งสองวิธี ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องควบคุมอาหารและกินยาตามแพทย์สั่ง
ก่อนฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ก่อนฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำเป็นต้องมีการเตรียมช่องทางสำหรับการนำเลือดออกมาฟอก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. การผ่าตัดเส้นฟอกเลือด มี 2 แบบ
1.1 การผ่าตัดเส้นฟอกเลือดโดยการเชื่อมเส้นเลือดของผู้ป่วยเอง Arteriovenous Fistula (AVF)
เป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานสำหรับการฟอกเลือดในระยะยาว หลังการผ่าตัดต้องรออย่างน้อย 6-8 สัปดาห์หรืออาจจะนานกว่านั้น เพื่อให้หลอดเลือดที่ทำการผ่าตัดมีความแข็งแรง จึงจะสามารถใช้เส้นฟอกเลือดได้
1.2 การผ่าตัดเส้นฟอกเลือดโดยการหลอดเลือดเทียม Arteriovenous graft (AVG)
ตำแหน่งที่ทำมักเป็นบริเวณแขนหรืออาจทำที่ขา (แต่เป็นส่วนน้อย) โดยทั่วไปสามารถใช้เส้นฟอกเลือดชนิดนี้ได้ 1-3 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด ปัจจุบันมีการผ่าตัดเส้นฟอกเลือดโดยใช้หลอดเลือดเทียมที่สามารถใช้ได้ทันทีหลังจากการผ่าตัด
การผ่าตัดเส้นฟอกเลือดทั้งสองแบบ เหมาะกับผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่มาก และสามารถรอการฟอกเลือดจนกว่าเส้นฟอกเลือดจะแข็งแรงพอ โดยวิธีนี้มีข้อดี คือ ใช้งานได้นาน เส้นอยู่ใต้ผิวหนัง สามารถอาบน้ำหรือว่ายน้ำได้
2. การใส่สายสวนฟอกเลือดเข้าในหลอดเลือดดำ
ตำแหน่งในการใส่สายอาจเป็นเส้นเลือดดำที่ต้นคอ หัวไหล่หรือขาหนีบ หลังใส่สามารถใช้สายสวนฟอกเลือดได้ทันที จึงมักใช้ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการมาก ต้องทำการฟอกเลือดโดยไม่สามารถรอการผ่าตัดทำเส้นฟอกเลือดได้ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดเส้นฟอกเลือด ซึ่งวิธีนี้มีข้อเสียคือ มีสายยื่นออกมาที่ผิวหนัง ทำให้รู้สึกรำคาญ ต้องระวังไม่ให้โดนน้ำ รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอุดตันได้ง่าย และมีอายุการใช้งานของสายจำกัด ต้องทำการเปลี่ยนสายใหม่เป็นระยะ
คำถามเกี่ยวกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดจะหยุดฟอกได้หรือไม่
ในกรณีที่เป็นโรคไตวายเฉียบพลัน อาจหยุดฟอกได้เมื่อไตฟื้นตัวกลับมาทำงานดีขึ้น แต่ในกรณีของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ถึงแม้ทำการฟอกเลือดจนอาการดีขึ้นมาก ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต หรือเปลี่ยนมาล้างไตทางหน้าท้อง เพราะถ้าหยุดฟอกเลือดผู้ป่วยจะกลับมีอาการทรุดลงเนื่องจากการคั่งของน้ำและของเสีย
ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวไกลๆ ได้หรือไม่
ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวไกลๆ ได้ แต่ต้องนำยาที่ต้องกินประจำไปด้วย ควรติดต่อห้องไตเทียมเพื่อการฟอกเลือดล่วงหน้าในสถานที่ที่จะเดินทางไป เพื่อจะได้ฟอกเลือดตามกำหนด และควรขอข้อมูลเกี่ยวกับการฟอกเลือดจากห้องไตเทียมที่ฟอกเลือดประจำ ไปให้ห้องไตเทียมใหม่ที่จะทำการฟอกเลือดด้วย
หลังจากฟอกเลือดแล้ว จะมีอายุยืนยาวหรือไม่
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือด ร่างกายจะมีสุขภาพแข็งแรงดีขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฟอกเลือด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะสามารถกลับไปทำงานและดำรงชีวิตได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงงานที่ใช้แรงมาก หรืองานที่มีความเสี่ยงต่อการกดทับของหลอดเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือด ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะเครียด
สำหรับความเชื่อที่ว่าเมื่อเริ่มทำการฟอกเลือดแล้ว จะอยู่ได้อีกไม่กี่ปี เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง โดยอายุขัยของผู้ป่วยจะยืนยาวเพียงใด ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น มีโรคร่วมด้วยหรือไม่ อายุผู้ป่วยมากน้อยเท่าใด ผู้ป่วยปฏิบัติตามและให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการฟอกเลือดหรือไม่ เช่น การมาฟอกเลือดสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนักในช่วงที่ไม่ได้ทำการฟอกเลือด เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จำเป็นต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามแนวทางอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด