ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ทอนซิลอักเสบ




รศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก

รหัสเอกสาร PI-IMC-176-R-00

อนุมัติวันที่ 23 กรกฎาคม 2563


         

        ต่อมทอนซิล (Tonsils) เป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อน้ำเหลือง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีหน้าที่หลัก คือ จับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งต่อมทอนซิลพบได้หลายตำแหน่ง ต่อมที่อยู่ด้านหลังของลำคอ มีชื่อเรียกว่า พาลาทีนทอนซิล (Palatine tonsil) นอกจากนั้นต่อมทอนซิลยังพบได้บริเวณโคนลิ้น (Lingual tonsil) และช่องหลังโพรงจมูก (Adenoid tonsil)


ทอนซิลอักเสบแตกต่างอย่างไรกับคออักเสบ


       “ ทอนซิลอักเสบ ” (Tonsillitis) เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิล ซึ่งเป็นต่อมที่อยู่บริเวณด้านหลังของลำคอซ้ายและขวา พบมากในเด็กอายุก่อน 10 ปี โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส รองลงมาเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้บ่อยคือ สเตร็ปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) ซึ่งโรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลันในเด็กก่อนวัยเรียนมักเกิดจากเชื้อไวรัส และสามารถติดต่อกันได้ง่าย จากการหายใจ ไอ จาม และการใช้ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ จานชามร่วมกัน ส่วนโรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ กลืนลำบาก เจ็บมากเวลากลืนอาหาร บางรายอาจมีอาการน้ำลายไหล และอาเจียนหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งอาจมีการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดลมร่วมด้วย โดยแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง 

    

       ส่วน " คออักเสบ " (Pharyngitis) หมายถึง ภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป บางครั้งภาวะทอนซิลอักเสบและคออักเสบอาจเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือเกิดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง     


อาการของทอนซิลอักเสบ


เจ็บคอ



กลืนเจ็บ กลืนลำบาก



มีกลิ่นปาก



มีไข้ หนาวสั่น



เสียงเปลี่ยน



ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว



ปวดที่บริเวณหู



ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต



 การรักษา         


        แพทย์อาจให้ยารับประทานเพื่อรักษาตามอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาลดน้ำมูก ลดไข้ ยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ หากเป็นมาก แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือและยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำ


        กรณีการอักเสบลุกลามมาก จนเกิดเป็นหนองบริเวณรอบต่อมทอนซิล อาจกระจายผ่านช่องคอเข้าสู่ปอดและหัวใจได้ รวมทั้งเชื้อแบคทีเรีย หากเข้ากระแสเลือดแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของโรคหัวใจและโรคไตได้


          ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการของทอนซิลอักเสบเฉียบพลันบ่อยๆ ต่อมทอนซิลจะโตขึ้น แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นแบบเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการอักเสบเป็นๆ หายๆ ได้ และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้



การผ่าตัดต่อมทอนซิล


        การผ่าตัดต่อมทอนซิลเป็นวิธีการรักษา ที่แพทย์จะให้คำแนะนำและพิจารณาการรักษาร่วมกับการตัดสินใจของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง โดยผู้ป่วยมักมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย 1. ทอนซิลอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเป็นบ่อยเกินไป 2. เมื่อต่อมทอนซิลโตมาก ทำให้เกิดอุดกั้นทางเดินหายใจ และมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย 3. แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งต่อมทอนซิล หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ


        ต่อมทอนซิลอักเสบที่แพทย์พิจารณาผ่าตัด ร่างกายมักไม่สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการดักจับเชื้อโรค แต่อาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค จนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังได้ ดังนั้น หากเด็กมีไข้ เจ็บคอ พักอยู่บ้านแล้วไม่หาย ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง 


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด