ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition Analyzer)




ผศ.พญ.นิพาวรรณ  ไวศยะนันท์

หน่วยระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrinology) ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-076-R-00


อนุมัติวันที่ 27 พฤษภาคม 2558



เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย คืออะไร


        เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย หรือ Body Composition Analyzer เป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย ด้วยหลักการอ่านค่าจากความต้านทานของกระแสไฟฟ้าต่อเซลล์ในร่างกาย (Bioelectrical Impedance Analysis) ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ใช้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย 



การทำงานของเครื่อง


        เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดสัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้กระแสไฟฟ้าต่ำๆ ไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายแล้ววัดความต้านทานต่อการไหลของกระแสในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย โดยที่ส่วนของกระดูก ไขมัน จะนำไฟฟ้าไม่ดี และมีแรงต้านทานต่อการไหลของกระแสไฟฟ้าสูง ในขณะที่เลือด อวัยวะภายใน และกล้ามเนื้อจะนำไฟฟ้าได้ดีและมีแรงต้านทานต่ำ จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ส่วนประกอบของร่างกายอย่างละเอียด ทั้งในส่วนของมวลกระดูก กล้ามเนื้อ ไขมัน และปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ความสมดุลและความแข็งแรงของร่างกาย ประเมินภาวะโภชนาการของร่างกาย ทราบถึงปริมาณไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ตลอดจนวินิจฉัยภาวะสุขภาพโดยรวมได้





วิธีการตรวจ


        -  ผู้รับบริการขึ้นไปยืนบนเครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกายด้วยเท้าเปล่า (ต้องถอดถุงเท้า/ถุงน่อง) 


        -  พยาบาลจะกดข้อมูลผู้รับบริการที่เครื่อง เพื่อจะประมวลผลเฉพาะบุคคล


        -  ผู้รับบริการจับแขนของเครื่อง (ตามภาพ) โดยให้หัวแม่มือสัมผัสกับจุดสีดำ (ตามภาพ) และยืนนิ่งๆบนเครื่อง ประมาณ 5 นาที


        -  เครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกาย จะวิเคราะห์และประมวลผล พร้อมพิมพ์ข้อมูล


        -  แพทย์/พยาบาลจะเป็นผู้อ่านผลและให้คำแนะนำ





ข้อมูลที่ได้ ประกอบด้วย


    1.  ข้อมูลส่วนบุคคล ที่แสดงอายุ ความสูง เพศ วันที่และเวลาที่ทำการวัด


    2.  ส่วนประกอบของร่างกาย (Body Composition) จะแสดง


        -  น้ำหนัก (Weight) 


        -  มวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ไม่รวมไขมัน (Skeletal Muscle Mass) 


        -  มวลไขมัน (Body Fat Mass)

 

        -  ปริมาณน้ำทั้งหมดในร่างกาย (Total Body Water) 


        -  มวลรวมของร่างกาย ยกเว้นไขมัน (Fat Free Mass)

 

        -  ปริมาณแร่ธาตุในร่างกาย (Mineral Mass)


    3.  วินิจฉัยโรคอ้วน (Obesity Diagnosis) จะแสดง


        -  ค่าดัชนีมวลกาย (B M I) 


        -  ร้อยละของไขมัน (P B F) ซึ่งสามารถใช้ระบุโรคอ้วนได้ 


        - อัตราส่วนระหว่างเอวกับสะโพก (W H R) ใช้บอกสัดส่วน : ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างรอบเอว (บริเวณสะดือ)และรอบสะโพก(ส่วนที่กว้างที่สุด)


        -  อัตราการเผาพลาญปกติ (B M R) ซึ่งเป็นพลังงานต่ำสุดที่ร่างกายต้องการใช้ในการดำรงชีวิตและรักษาภาวะสมดุลของร่างกาย


    4.  ข้อมูลรวมการประเมินในส่วนต่างๆ (Various Comprehension Evaluation) จะแสดงผลการประเมินสารอาหาร (Nutritional Evaluation) การควบคุมน้ำหนัก (Weight Management) และการวินิจฉัยโรคอ้วน (Obesity Diagnosis) 

    

    5.  การควบคุมกล้ามเนื้อ-ไขมัน (Muscle-Fat Control) แสดงค่าว่าควรเพิ่มหรือลดเท่าใดจึงจะเหมาะสม อันได้แก่ ไขมันที่ต้องควบคุม (Fat Control) และกล้ามเนื้อที่ต้องควบคุม (Muscle Control)



Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat