ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ตาเขหรือตาเหล่




ผศ.พญ.อัจฉรียา  วิวัฒน์วงศ์วนา

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-170-R-00

อนุมัติวันที่ 23 กรกฎาคม 2563


        ตาเขหรือตาเหล่ คือ ภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นความผิดปกติของการมองที่มีแนวของตาไม่ขนานกัน คือ ตาข้างหนึ่งมองตรง แต่ตาอีกข้างหนึ่งอาจหันเข้าด้านในหรือหันออกนอก หรืออาจมองขึ้นบนหรือมองลงล่าง โดยภาวะตาเขนี้อาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็นระยะได้ และอาจจะเป็นตาใดตาหนึ่ง หรือสลับข้างกันไปมา เรียกว่า ตาเขสลับข้าง


สาเหตุของภาวะตาเข

        ตาเขพบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่นอน แต่พบว่าสมองทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการกลอกตา ดังนั้น เด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง เช่น สมองพิการ กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม น้ำคั่งในกะโหลกศีรษะ เนื้องอกในสมอง มักพบภาวะตาเขร่วมด้วย นอกจากนี้ต้อกระจกหรืออันตรายทางตาที่รบกวนการมองเห็น ก็เป็นสาเหตุของภาวะตาเขได้เช่นกัน


ตาเขมีกี่ชนิด


ตาเขแบ่งเป็น 4 ชนิด ดังนี้


1. ตาเขชนิดหลอกหรือตาเขเทียม (Pseudo strabismus) คือ ลักษณะของตาที่ดูคล้ายตาเข มักพบในเด็ก แต่หากโตขึ้นสามารถหายไปได้เอง


2. ตาเขชนิดซ่อนเร้น (Latent strabismus) คือ การแสดงอาการตาเขออกมาเป็นบางครั้ง ซึ่งมักมีภาวะนี้ช่วงอ่อนเพลีย ปวดตา มึนศีรษะ เมื่อต้องใช้สายตามาก ๆ จะมีอาการเมื่อยล้าตาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกกล้ามเนื้อตา


3. ตาเขชนิดเห็นได้ชัด (Manifest strabismus) คือ ตาเขที่สามารถเห็นได้ชัดเจน โดยมีลักษณะ ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia) และตาเขออกด้านนอก (Exotropia) ตาเขขึ้นด้านบน (Hypertropia) ตาเขลงด้านล่าง (Hypotropia)


4. ตาเขชนิดเป็นอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตาหรือจากโรคทางร่างกายอย่างอื่น เป็นตาเขที่มักพบในผู้ใหญ่ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้


      - กล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนตัวหรือเป็นอัมพาต แบบเฉียบพลัน (สาเหตุอาจมาจากการกดทับของก้อนมะเร็งที่เส้นประสาทนั้น ทำให้เกิดการอักเสบ


      - มีพยาธิ เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิตืดหมู ฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อ


      - อุบัติเหตุที่ทำให้ประสาทบังคับการกลอกลูกตาเป็นอัมพาตไปทันที


      - เกิดตามหลังโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวานที่เป็นระยะเวลานาน ตาอาจเขออกนอกได้ หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง


      - เกิดจากโรคของระบบอื่นในร่างกาย (พบได้ไม่บ่อย)



การรักษาภาวะตาเข

1.   สวมแว่นสายตา

2.   ปิดตาข้างที่เห็นดีกว่า (วิธีเดียวกับการรักษาโรคตาขี้เกียจ)

3.   ผ่าตัดกล้ามเนื้อตา


ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน รวมทั้งการฝึกกล้ามเนื้อตา ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย

 

ข้อมูลอ้างอิง บทความจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพงษ์  ดวงรัตน์ เพจหมอชาวบ้าน , รศ.พญ.ประภัสสร  ผาติกุลศิลา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด