ผศ.ดร.พญ.วรางคณา อาภรณ์ชยานนท์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก
รหัสเอกสาร PI-IMC-166-R-00
อนุมัติวันที่ 23 กรกฎาคม 2563
ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่รอบๆ โพรงจมูก ทั้งซ้ายและขวา โดยโพรงไซนัสมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ บริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง ที่ด้านหน้าและด้านในสุดของช่องจมูก บริเวณสองข้างแก้ม บริเวณหน้าผาก และบริเวณที่อยู่ใต้ฐานกะโหลก ส่วน “ไซนัสอักเสบ” (Sinusitis) คือ โรคที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อบุโพรงอากาศ หรือที่เรียกว่า “ไซนัส” เกิดการอักเสบ โดยการอักเสบเกิดขึ้นได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งจะมีระยะเวลาแสดงอาการและมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน
ไซนัสอักเสบคืออะไร
โรคไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบของโพรงไซนัสที่อาจเกิดได้จากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา โดยมีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีภาวะจมูกอักเสบภูมิแพ้ จมูกอักเสบเรื้อรัง เกิดภายหลังการเป็นหวัด หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้การระบายของโพรงไซนัสอุดตันได้ง่าย เช่น โพรงจมูกคด เป็นต้น ทั้งนี้ ไซนัสอักเสบแบ่งเป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาที่เป็น คือ
1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ มีอาการน้อยกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งโดยมากมักอาการดีขึ้น หลังการรักษาด้วยยา แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดรักษา
2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ มีอาการ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งในภาวะนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการผ่าตัดรักษามากกว่าชนิดเฉียบพลัน
อาการ
โดยส่วนใหญ่อาการของไซนัสอักเสบและหวัด จะมีอาการแสดงคล้ายกัน แต่อาการเด่นของโรคไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย ได้แก่ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล น้ำมูกลงคอ ร่วมกับมีอาการปวดจมูกและใบหน้า จมูกรับกลิ่นลดลง หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย ข้อสังเกตที่มักเป็นอาการของโรคไซนัสอักเสบ ได้แก่
1. หากอาการคล้ายหวัดนั้นเป็นมากกว่า 10 วัน
2. อาการไข้หวัดดีขึ้นแล้ว แต่กลับแย่ลงอีก
3. อาการที่เป็นรุนแรงกว่าปกติ เช่น น้ำมูกเป็นหนอง มีไข้สูง ปวดศีรษะหรือปวดหน้าผากมาก มีการมองเห็นที่ผิดปกติ เป็นต้น
โดยทั่วไปโรคไซนัสอักเสบสามารถรักษาได้ด้วยยา และไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากมีการอักเสบติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ หรือโรคจมูกและโพรงไซนัสอักเสบที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางตา ทางสมอง ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ซึ่งหากท่านมีอาการที่สงสัยโรคไซนัสอักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา รวมทั้งคำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อลดการกลับซ้ำ และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคไซนัสอักเสบ
การรักษา
ผศ.ดร.พญ.วรางคณา ให้คำแนะนำว่า การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากแบคทีเรียที่อาการไม่รุนแรงนั้น พบว่าสามารถหายเองได้ หากพักผ่อนเพียงพอและดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี โดยแพทย์อาจให้รับประทานหรือพ่นยาลดอาการคัดจมูก เพื่อเปิดทางระบายของรูเปิดโพรงไซนัส หรือให้ยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ รวมถึงการให้ผู้ป่วยล้างจมูกเบาๆ ด้วยน้ำเกลือ เลี่ยงการดื่มน้ำเย็น โดยไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่นั้น แพทย์จะพิจารณาตามผลการตรวจช่องจมูกที่พบในผู้ป่วยแต่ละราย จึงไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเองเพื่อรักษาภาวะไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องมาตรวจหาสาเหตุโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งอาจพบสาเหตุอื่นๆ ร่วมได้ เช่น
- โรคภูมิแพ้ ทำให้เกิดโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง คัดจมูก น้ำมูกมาก ส่งผลให้ทางระบายไซนัสเกิดการอุดตัน
- โพรงจมูกอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุอื่น เช่น ฝุ่นละออง สารเคมี ยาบางกลุ่ม (ยาลดความดัน ยาคุมกำเนิด)
- ฟันผุ (ฟันของขากรรไกรบนบางซี่อาจมีรากฟันโผล่เข้าไปในไซนัส เมื่อฟันผุเกิดการอักเสบลุกลามไปที่ไซนัสได้)
- ภาวะต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก เป็นต้น
การรักษาไซนัสอักเสบ ควรรู้สาเหตุของโรค เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการเป็นซ้ำ เช่น เลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ควัน สารเคมีหรือสารก่อภูมิแพ้ สวมใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในที่แออัด หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะรับประทานอาหารร่วมกับผู้ที่มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน แต่งกายให้อบอุ่น เมื่อมีอาการคัดจมูก อาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อล้างน้ำมูกเหนียวออก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยการใช้ยา หรือการล้างไซนัส รวมทั้งการผ่าตัดเพื่อเปิดรูระบายไซนัสให้กว้างขึ้นตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำบ่อยๆ รักษาสุขอนามัยส่วนตัว พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะเมื่อร่างกายแข็งแรง ย่อมเป็นเกราะป้องกันโรคต่างๆ ได้
ข้อมูลอ้างอิง
- ความรู้เบื้องต้นสำหรับจมูกและโพรงไซนัสอักเสบ ภาควิชาโสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- “หนูเป็นไซนัส (รึเปล่า)” รศ.พญ.สายสวาท ไชยเศรษฐ ภาควิชาโสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด