อ.พญ.อนุธิดา เชาว์วิศิษฐ์เสรี
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
รหัสเอกสาร PI-IMC-164-R-00
อนุมัติวันที่ 25 กรกฎาคม 2563
น้ำปัสสาวะเกิดจากไตทำการกรองของเสียที่อยู่ในเลือด ซึ่งจะไหลผ่านตามทางเดินปัสสาวะก่อนที่จะถูกขับออกมา เพราะฉะนั้นการนำปัสสาวะมาตรวจ จึงเป็นการสะท้อนการทำงานของไตและทางเดินปัสสาวะ นอกจากจะสามารถประเมินความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว ยังสามารถบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายบางภาวะได้อีกด้วย เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ผลที่ได้จากการตรวจปัสสาวะ
ข้อมูลเบื้องต้นจากปัสสาวะ
ได้แก่
ลักษณะของสีและความขุ่นใสของปัสสาวะ โดยปกติแล้วปัสสาวะจะมีลักษณะสีเหลืองใส หากมีลักษณะผิดแปลกไป
อาจจะบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น
ปัสสาวะขุ่นบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ปัสสาวะสีแดงบ่งบอกถึงการมีเลือดปน
ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อสืบค้นสาเหตุของความผิดปกติต่อไป
ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ (pH)
สามารถแสดงความสมดุล ความเป็นกรด-ด่างของเลือดได้ ค่าปกติจะอยู่ที่ 4.5-8 อย่างไรก็ตามสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ด้วย เช่น ปัสสาวะสามารถเป็นกรดมากขึ้น จากการรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมากหรือผลไม้บางชนิด
ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (SG)
ค่าปกติควรอยู่ที่ 1.003-1.030 ค่านี้จะช่วยบ่งบอกความเข้มข้นหรือเจือจางของปัสสาวะได้ หากค่าผิดปกติไป ร่วมกับมีประวัติหรืออาการที่ผิดปกติ จะช่วยบ่งบอกถึงภาวะหรือโรคบางอย่างได้
โปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ (Protein)
โดยปกติแล้วไม่ควรพบโปรตีนในปัสสาวะ แต่อาจจะมีปนมาในปัสสาวะได้บ้างในกรณี เช่น มีการออกกำลังกายอย่างหนักมาก่อน, มีภาวะขาดน้ำ, มีไข้, ใกล้มีรอบเดือน, รับประทานเนื้อสัตว์เยอะ แต่หากมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะปริมาณมากควรได้รับการตรวจยืนยันอีกครั้ง เพราะอาจจะเป็นสัญญาณของภาวะไตเสื่อมเรื้อรังหรือโรคไตบางชนิดได้
น้ำตาลในปัสสาวะ (Sugar)
ปกติแล้วไม่ควรพบน้ำตาลในปัสสาวะ
หากตรวจพบจะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้สงสัยโรคเบาหวานได้
หรือมีการทำงานของไตที่ผิดปกติได้
ตะกอนของปัสสาวะ (Urine Sediments)
ประกอบไปด้วยการรายงานเม็ดเลือดขาว, เม็ดเลือดแดง,
เยื่อบุเซลล์ผิวหนัง รวมถึงผลึกต่างๆ หรือแท่งคาสท์
ซึ่งหากมีสิ่งเหล่านี้สูงผิดปกติ สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ,
นิ่วหรือโรคไตบางชนิดได้
โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุต่อไป
ปัสสาวะที่ปนเปื้อน (Contaminated Urine)
คือ มีการปนเปื้อนเกิดขึ้นขณะเก็บปัสสาวะ ทำให้ในปัสสาวะมีเยื่อบุเซลล์ผิวหนังออกมามาก, พบเม็ดเลือดขาว, แบคทีเรียหรือเชื้อราที่อยู่บริเวณรอบอวัยวะเพศ ซึ่งโดยปกติไม่ก่อโรคปนออกมา มักเกิดจากกระบวนการหรือวิธีการเก็บปัสสาวะไม่เหมาะสมเท่าที่ควร ดังนั้น ผลปัสสาวะที่ได้จึงไม่เหมาะสมที่จะแปลผล หากต้องการผลที่ถูกต้องและชัดเจนควรเก็บปัสสาวะเพื่อทำการตรวจซ้ำโดยวิธีเก็บที่ถูกต้อง
คำแนะนำในการเก็บปัสสาวะและวิธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง
- สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนอยู่ แนะนำงดตรวจปัสสาวะ เพราะจะทำให้มีเลือดปนกับปัสสาวะออกมาและแปลผลผิดไปจากความเป็นจริง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังอย่างหักโหมก่อนทำการเก็บ เพราะอาจจะทำให้พบเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะได้
- สำหรับผู้ใหญ่ที่สามารถเก็บปัสสาวะเองได้ นิยมตรวจปัสสาวะด้วยวิธีการ Midstream and clean catch technique นั่นคือต้องเก็บปัสสาวะด้วยวิธีที่สะอาดและกลางลำปัสสาวะ
วิธีการเก็บปัสสาวะ ดังกล่าวคือ
1. ควรล้างมือและทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาด ไม่ต้องใช้สบู่หรือสารทำความสะอาดใดๆ เพราะปัสสาวะที่ได้ไม่ควรมีสิ่งเจือปน
2. ก่อนการเก็บ สำหรับผู้หญิงให้ทำการแหวกอวัยวะเพศภายนอกทั้งสองข้าง และสำหรับผู้ชายควรทำการร่นผิวหนังที่อวัยวะเพศชายลง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเซลล์และแบคทีเรียปนเปื้อนไปกับปัสสาวะ
3. ปัสสาวะทิ้งเล็กน้อยประมาณ 40-50 มม. เพื่อช่วยชะล้างเซลล์ต่างๆ, แบคทีเรีย, สิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ
4. เก็บปัสสาวะช่วงกลางลำปัสสาวะด้วยภาชนะสะอาดที่เตรียมไว้ จากนั้นนำภาชนะออกแล้วปัสสาวะช่วงท้ายทิ้งไป
5. ปิดเกลียวฝาภาชนะให้เรียบร้อย แล้วนำไปส่งตรวจตามบริเวณที่กำหนดไว้
การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะควรทำขณะที่ปัสสาวะยังสดใหม่และอุ่นอยู่ ไม่ควรทิ้งปัสสาวะไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงหลังเก็บปัสสาวะ เพราะจะเกิดการสลายตัวของเม็ดเลือดและพบแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นได้
จะเห็นได้ว่าการตรวจปัสสาวะสามารถให้ข้อมูลต่างๆ ทางสุขภาพได้มากมาย และยังเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย คนทั่วไปสามารถทำการเก็บสิ่งส่งตรวจเองได้ ไม่ต้องมีการเตรียมตัวที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่รับการตรวจต้องให้ความสำคัญกับวิธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง เพื่อผลที่ออกมาจะได้มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด