ศ.พญ.สายพิณ พงษธา
สูตินรีแพทย์
รหัสเอกสาร PI-IMC-153-R-01
อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566
ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หมายถึง กลุ่มความผิดปกติซึ่งประกอบด้วยความดันโลหิตสูงเป็นหลัก อาจตรวจพบก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ความดันดลหิตสูงแบบเรื้อรัง หรือขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจพบร่วมกับการบวมหรือตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ เช่น ครรภ์เป็นพิษ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีอาการชักหมดสติ
การวินิจฉัยจากอาการและอาการแสดง
1. ความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท อาจมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุก แน่นลิ้นปี่
2. มีอาการบวมแบบทันทีทันใดบริเวณใบหน้ามือขาและเท้า โดยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. ตรวจพบไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่
1. อายุของหญิงตั้งครรภ์: มักพบมากขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อยหรือมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
2. กรรมพันธุ์ : สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
3. ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ จะพบได้สูงกว่าผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง
4. การขาดสารอาหาร เช่น แคลเซียม
5. จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ มักพบในมารดาที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง
6. หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานหรือโรคไต นอกจากนี้ยังมักพบในรายที่เป็นครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุกและทารกบวมน้ำ
ผลต่อมารดาและทารก
ผลต่อมารดา
1. อันตรายจากภาวะชัก อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต
2. ภาวะหัวใจทำงานล้มเหลว
3. เสียเลือดและเกิดภาวะช็อกจากรกลอกตัวก่อนกำหนด ตกเลือดหลังคลอด ซึ่งเป็นผลจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำและการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
4. ภาวะไตวายเฉียบพลัน
5. มีโอกาสกลับเป็นซ้ำใหม่ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
ผลต่อทารก
1. ทารกในครรภ์เสียชีวิต
2. คลอดก่อนกำหนด
3. ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
4. ทารกที่คลอดออกมาอาจมีภาวะแทรกซ้อน จากการคลอดก่อนกำหนด
การปฏิบัติตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
1. สังเกตอาการสำคัญต่างๆ ได้แก่ การสังเกตอาการบวมบริเวณใบหน้ามือขาและเท้า ปัสสาวะออกน้อยลงคลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดออกตามไรฟัน การรับรู้วัน เวลา สถานที่ลดลง และอาการสำคัญที่นำไปสู่การชัก คืออาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเจ็บชายโครงขวา หากพบอาการดังกล่าวควรไปโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันนัด
2. สังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ ถ้าดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งภายใน 4 ชั่วโมง ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที
3. ควรนอนพักมากๆ ในท่านอนตะแคงซ้าย เพื่อส่งเสริมให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความดันโลหิตทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น
4. ควรชั่งน้ำหนักทุกวันในเวลาเดียวกัน ตอนเช้าหลังตื่นนอนก่อนรับประทานอาหาร ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนชั่งน้ำหนัก เพื่อให้ได้ค่าที่เชื่อถือได้ ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรไปตรวจเพื่อรับการรักษาโรงพยาบาลทันที
5. การรับประทานอาหาร
- ควรลดอาหารเค็ม
- เพิ่มอาหารประเภทโปรตีนและแคลเซียม ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อป้องกันท้องผูก
6. สังเกตการหดรัดตัวของมดลูก (อาการท้องแข็ง) ถ้ามดลูกหดรัดตัวอย่างน้อย 1 ครั้งใน 10 นาที และมาสม่ำเสมอ และแต่ละครั้งหดรัดตัวนาน 30 วินาที แสดงถึงอาการของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
7. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดควรนอนพักในเวลากลางวันอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง และควรผ่อนคลายความเครียด
8. การออกกำลังกายควรเป็นแบบง่ายๆ ได้แก่ การหมุนข้อมือข้อเท้า การผ่อนคลายกล้ามเนื้อแขนขา เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ส่งเสริมการขับถ่ายให้เป็นปกติและช่วยให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใสขึ้น
9. มาตรวจตามนัดสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด