ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ก้อนที่เปลือกตา



.พญ.ปรียานุช  คุณทรงเกียรติ

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-154-R-00

อนุมัติวันที่ 25 มิถุนายน 2563


        ก้อนที่เปลือกตา...อย่าคิดว่าไม่สำคัญ  ลักษณะอย่างไรถึงไม่อันตราย แบบไหนคือก้อนที่เสี่ยงจะเป็นเนื้อร้ายลักษณะไหนปล่อยทิ้งไว้ได้ และแบบไหนควรจะตัดออก


ตัวอย่างก้อนที่เปลือกตาที่พบได้บ่อยๆ และไม่เป็นอันตราย ได้แก่ 


        ตากุ้งยิง 


เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา หากการอักเสบเป็นมากอาจทำให้เกิดก้อนหนอง ทำให้คลำได้เป็นก้อน ร่วมกับมีอาการปวด บวม แดงและกดเจ็บ สามารถรักษาได้โดยการเจาะเอาหนองออก ร่วมกับการหยอดและทานยาปฏิชีวนะ ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ทำการเจาะหนอง ก้อนอาจกลายเป็นถุงที่มีพังผืดมาห่อหุ้ม เรียกว่า Chalazion ทำให้แม้การอักเสบจะหายไปแล้วแต่ยังคงคลำก้อนได้อยู่  ลักษณะนี้สามารถรักษาด้วยการเจาะและใช้เครื่องมือขูดเอาก้อนภายในออกได้เช่นกัน


        ไฝและขี้แมลงวัน 


มีลักษณะผิวเรียบ นิ่ม มีการเปลี่ยนแปลงสีและขนาดได้บ้างเล็กน้อยตามอายุและฮอร์โมน


        ติ่งเนื้อ 


มีหลายชนิด เช่น หูด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีลักษณะนิ่ม ผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ  ติ่งเนื้อที่พบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ เป็นต้น


        ก้อนไขมันสะสมที่เปลือกตา 


มีสีเหลือง ผิวเรียบนูนไม่มาก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่ามีระดับไขมันในเลือดสูง



รูปที่ 1 ตากุ้งยิง


รูปที่ 2 ติ่งเนื้อในผู้สูงอายุ


รูปที่ 3 ก้อนไขมันสะสมที่เปลือกตาบน และไฝที่เปลือกตาล่าง


ก้อนที่เสี่ยงกับการเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง มีลักษณะดังนี้


1. ก้อนมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ


2. ขอบเขตของก้อนไม่ชัดเจน ผิวขรุขระ


3. สีของก้อนไม่สม่ำเสมอ


4. มีเส้นเลือดมาเลี่ยงค่อนข้างมาก อาจมีเลือดซึมๆ ออกมาได้เมื่อสัมผัส


5. ทำให้ลักษณะของหนังตาผิดรูปไป


6. มีขนตาร่วงบริเวณที่เป็นก้อน


7. เป็นแผลเรื้อรัง หรืออาจแฝงมากับการเป็นตากุ้งยิงซ้ำๆ หลายๆครั้ง โดยเฉพาะตากุ้งยิงในผู้สูงอายุ


รูปที่ 4 ก้อนที่มีลักษณะเสี่ยงกับการเป็นเนื้อร้าย


        หากก้อนที่เปลือกตามีลักษณะดังกล่าวควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อพิจารณาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ทำการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้หนังตาผิดรูปมากขึ้น มีการลุกลามไปในเบ้าตาหรือมีโอกาสกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้