ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

สิ่งที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรรู้เกี่ยวกับโควิด-19



อ.นพ.ภาณุเมศ  ศรีสว่าง

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

รหัสเอกสาร PI-IMC-148-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566



        ยังคงมีคำถามเข้ามาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งหนึ่งในคำถามที่น่าสนใจและผมเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วย คือ เรื่องของความดันโลหิตสูง ดังที่หลายท่านคงได้รับทราบข้อมูลของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  (ศบค.) ที่มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – 17 เมษายน 2563 พบว่า 36% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้น บทความในครั้งนี้ผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ข้อควรรู้ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงกับโรคโควิด-19”



คำถาม

1. เชื้อโควิด-19 มีผลต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอย่างไร

       - เชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดปอดบวมได้บ่อย และเชื้อก็มีผลต่อระบบหัวใจร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

       - ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว และมีผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ

       - ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือกระตุ้นให้ก้อนไขมันในหลอดเลือดเกิดการปริแตก และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้


2. ยารักษาความดันทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 อาการแย่ลงหรือไม่

       - โดยทฤษฎียากลุ่ม ACEI หรือ ARB ทำให้เอนไซม์ ACE2 เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื้อโควิด-19 ใช้ในการเข้าสู่เซลล์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดบ่งชี้ถึงข้อเสียดังกล่าวนี้

       - แนะนำให้ใช้ยาเดิมตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเปลี่ยนหรือหยุดยาเอง เนื่องจากจะทำให้โรคความดันโลหิตสูงแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองขาดเลือดได้


3. การใช้ยาบรรเทาอาการไข้หวัดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงต้องระมัดระวังอะไรบ้าง

        - ยาในกลุ่ม NSAID เช่น Ibuprofen, Naproxen อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้

        - ยาลดน้ำมูก (Decongestant) สามารถทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้

        - หากมีไข้ แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล เนื่องจากไม่มีผลต่อความดันโลหิต


4. ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และเชื้อ Streptococcus pneumoniac หรือไม่ และสามารถป้องกันโควิด 19 ได้ไหม


         - การฉีดวัควีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนในการวินิจฉัยได้

         - การฉีดวัคซีน Pneumococcus ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนขณะที่ป่วยโควิด-19 ดังนั้น จึงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนตามเวลาที่กำหนด

        บทความฉบับนี้ หวังว่าจะช่วยให้ทุกท่านได้เข้าใจเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงกับโควิด-19 ได้มากขึ้นนะครับ ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกท่านสามารถเตรียมตัวรับมือกับโรคเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและลดความรุนแรงของโรคลงได้ครับ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีและแข็งแรงสู้ภัย   โควิดกันนะครับ


ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat






Facebook : SriphatMedicalCenter