ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การตรวจระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด


.พญ.อนุธิดา  เชาว์วิศิษฐ์เสรี

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

รหัสเอกสาร PI-IMC-141-R-00

อนุมัติวันที่ 23 เมษายน 2563


แคลเซียมในเลือด


        แคลเซียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่สำคัญต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างกระดูกและฟัน นอกจาก นี้แคลเซียมยังมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการหดขยายของหลอดเลือด การหลั่งฮอร์โมนและการส่งสัญญาณประสาท


ระดับปกติของแคลเซียมในเลือดที่วัดได้ ควรอยู่ที่ 8.5-10.5 mg/dl (อย่างไรก็ตามช่วงของค่าปกติขึ้นอยู่กับห้อง ปฏิบัติการแต่ละที่ด้วย) หากระดับของแคลเซียมในเลือดผิดปกติ สามารถบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายได้


ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หากมีความผิดปกติมากหรือสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้มีอาการของระบบทางเดินอาหารได้บ่อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและกล้าม เนื้ออ่อนแรง สาเหตุของภาวะนี้ส่วนใหญ่มาจากโรคมะเร็งบางชนิด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งที่รุกรานกระดูก) และภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น การได้รับวิตามินดีที่มากเกินไปหรือการรับประทานยาบางชนิด


ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ หากแพทย์พบว่ามีภาวะนี้ จะทำการพิจารณาประเมินระดับโปรตีนอัลบูมินเพื่อแปลผลเพิ่มเติม เพราะระดับอัลบูมินที่ผิดปกติสามารถรบกวนค่าแคลเซียมในเลือดได้ ภาวะนี้ส่วนใหญ่มักไม่ทำให้มีอาการ แต่ถ้าระดับต่ำมากหรือลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้มีอาการชารอบปาก มือจีบเกร็ง ชักกระตุก สาเหตุที่ทำให้แคลเซียมในเลือดต่ำ ได้แก่ การขาดวิตามินดี (จากภาวะขาดโภชนาการ ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดี มีโรคตับหรือไตวายเรื้อรัง) ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น


ระดับฟอสฟอรัสในเลือด


ฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟันเช่นเดียวกับแคลเซียม นอกจากนี้ยังมีบทบาทในระดับเซลล์ ได้แก่ การสร้างพลังงานและเป็นส่วนประกอบผนังเซลล์ 


ค่าปกติของฟอสฟอรัสในเลือดอยู่ที่ 2.5-4.5 mg/dl (อย่างไรก็ตามช่วงของค่าปกติขึ้นอยู่กับห้องปฏิบัติการแต่ละที่ด้วย) หากระดับของฟอสฟอรัสในเลือดผิดปกติเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วจะไม่แสดงอาการ 


ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง มักจะไม่มีอาการผิดปกติ เว้นแต่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำร่วมด้วย มักมีสาเหตุมาจากการใช้ยาระบายบางชนิด การได้รับวิตามินดีมากเกินไป ไตวายฉับพลันและเรื้อรัง


ภาวะฟอสฟอรัสต่ำ สามารถก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เม็ดเลือดแดงแตก มักพบในผู้ที่ขาดสารอาหาร ติดสุรา รับประทานยาลดกรดเกินความจำเป็น ท้องเสียเรื้อรัง ขาดวิตามินดี ความผิดปกติของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ โรคไตบางชนิด


------------------------------------------------------------

สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด