อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต
รหัสเอกสาร PI-IMC-142-R-00
อนุมัติวันที่ 23 เมษายน 2563
ในช่วงที่ทุกคนกำลังวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆ คนอาจกักตัวเองทำงานอยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น การดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยหรือลดระดับความรุนแรงของอาการหากเราติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังหรือไตเสื่อม ทั้งที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต (การฟอกเลือด,การฟอกไตทางหน้าท้อง) และกลุ่มที่ยังไม่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต เป็นกลุ่มคนที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาจเกิดอาการรุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากการทำงานของอวัยวะในร่างกายมีความเสื่อม รวมไปถึงภาวะภูมิคุ้มกันที่ถดถอยนอกจากนั้นโรคไตเรื้อรังยังสัมพันธ์กับการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดและโรคเส้น เลือดสมอง (stroke) บทความนี้จะพูดถึงความเสี่ยงต่อการเป็นไรคไต วิธีที่จะป้องกันไม่ให้เป็นไรคไต และ การดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเสื่อม ในช่วงกักตัวหรือทำงานที่บ้าน
ความเสี่ยงเป็นโรคไตในช่วง Work from home หรือเมื่อต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน
1. หลายคนมีประชุมหรือลงคอร์สออนไลน์ต่อเนื่องหลายชั่วโมงไม่ได้พัก อาจทำให้ลืมดื่มน้ำจนทำให้ร่างกายขาดน้ำ หรือกลั้นปัสสาวะนานเกินไป (ไม่กล้าขอหัวหน้าออกไประหว่างประชุม) จนเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
2. นั่งดูหนังออนไลน์พร้อมกับเพลิดเพลินใจกับการรับประทานขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมสูง มีน้ำตาลมาก และฟอสฟอรัสมากเกินไป ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคไต นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคไตระยะท้ายๆ ควรระวังเรื่องการรับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ทุเรียน กล้วย ลำไย มะม่วง ลูกเกด และลูกพรุน เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงและเกิดการเต้นของหัวใจผิดปกติได้ (สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากเรื่องอาหารและโพแทสเซียม , อาหารและโซเดียม , อาหารและฟอสฟอรัส จากแหล่งอ้างอิงท้ายบทความ )
3. นั่งหรือนอนทั้งวัน เพิ่มโอกาสการติดเชื้อรวมทั้งเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ ควรแบ่งเวลาออกกำลังกายบ้าง
4. เสพข่าวทั้งวันอาจทำให้เครียดและวิตกกังวล ควรมีช่วงเวลาพักการเสพข่าวสาร หรือพิจารณาข่าวอย่างมีวิจารณญาณ
5. นอนน้อยนอนดึก ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย
6. ช่วงกักตัวบางคนอาจไม่อยากออกไปซื้ออาหารนอกบ้านแถมร้านอาหารก็ปิด ทำให้รับประทานแต่อาหารสำเร็จรูปเช่น บะหมีกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ซึ่งมีโซเดียมสูง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเสื่อม
การป้องกันและการชะลอการเสื่อมของไต
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ (อย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน)
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงยาเสพติด เฮโรอีน โคเคน ยาอี (เอคสตาซี) กัญชา (ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าได้ผลดีในคนไข้โรคไตเสื่อม)
- หยุดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ
- ระวังอย่าให้เกิดท้องเสีย ถ้ามีท้องเสียควรดื่มน้ำให้พอ
- ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทาน สมุนไพร ยาหม้อ ยาพื้นบ้าน
- หลีกเลี่ยงยาที่มีผลต่อไต เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ ก็อาจจะทำให้ไตเสื่อมได้ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NASID) กลุ่มยาแก้อักเสบ แก้ปวดข้อ)
- ควรดื่มน้ำบริสุทธิ์สะอาดให้เพียงพอ วันละ 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน
- การดูแลเรื่องอาหาร ลดอาหารรสเค็ม ลดอาหารมันและควรหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป เพราะอาหารสำเร็จรูปมีส่วนประกอบของโซเดียมในปริมาณที่สูง
สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังอยู่แล้ว ควรดูแลอาการของโรคหรือป้องกันภาวะแทรซ้อนต่างๆ เพื่อที่จะไม่ทำให้ไตเสื่อมเร็วเช่น ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในช่วง 80-120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(มก./ดล.) หรืออย่างน้อยต้องไม่เกินกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(มก./ดล.)ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน รวมถึงรับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรคที่เป็นเรื้อรัง เช่น ไตเสื่อมจากเอสแอลอี (SLE) นิ่ว หรือถุงน้ำในไต เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคไตสามารถการออกกำลังกายชนิดต่อเนื่องที่บ้านได้ง่ายๆ เช่น การเดินรอบ ๆ บริเวณบ้าน การเต้นแอโรบิก (แต่ไม่ควรหนักเกินไป) ออกกำลังกายประมาณวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรออกกำลังกายจนเหนื่อยถึงขั้นไม่สามารถพูดเป็นคำๆ ได้ ควรออกกำลังช่วงเช้าหรือเย็น และควรหยุดออกกำลังกายเมื่อรู้สึกเหนื่อย หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก รู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นท้อง ตะคริว เวียนศีรษะ จะเป็นลม
- เรื่องเพศสัมพันธ์ไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่การเป็นโรคไตเรื้อรังอาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
- ผู้ป่วยโรคไตควรปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
การมาพบแพทย์ตามนัดหรือเมื่อมีอาการผิดปกติ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ หรือเลือกใช้บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ กรณีที่อาการคงที่ และได้รับความเห็นชอบจากแพทย์แล้วว่าสามารถรับยาเดิมทางไปรษณีย์ได้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ท่านสามารถดูแลตัวเองตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ได้อย่างต่อเนื่อง และปลอดภัยจากความเสี่ยงต่อการรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อภายนอกบ้าน
สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาโดยการฟอกเลือด
ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ เพราะต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3
ครั้ง ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียม
ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากได้พบปะผู้คนจำนวนมากระหว่างเดินทาง
อีกทั้งผู้ป่วยบางคนต้องใช้รถขนส่งสาธารณะ ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ดังนั้นผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยการฟอกไต
ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน และขณะทำการฟอกไต เพื่อป้องกันการไอ
จาม ของตัวเองและบุคคลอื่น อีกทั้งควรล้างมือหรือพ่นแอลกอฮอล์บ่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
การเดินไปมา หรือการเดินขึ้นลงบันไดต้องมีการจับราวบันได ผนัง หรือสิ่งใกล้มือ ซี่งอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19
ได้ง่าย
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ ท่าน เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตระหว่างทำงานหรือกักตัวที่บ้าน อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติ เช่น เท้าบวม เปลือกตาบวม ปัสสาวะออกน้อย หรือปัสสาวะผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
อ้างอิงข้อมูลจากบทความ
1. “โรคไตเรื้อรัง” โดย นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ อายุรแพทย์โรคไต http://www.cmed.cmu.ac.th/th/knowledge-97
2. “อาหารและฟอสฟอรัส” โดย นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ อายุรแพทย์โรคไต http://www.cmed.cmu.ac.th/th/knowledge-63
3. “อาหารและโพแทสเซียม” โดย นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ อายุรแพทย์โรคไต http://www.cmed.cmu.ac.th/th/knowledge-62
4. “อาหารจำกัดโซเดียม” โดย นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ อายุรแพทย์โรคไต http://www.cmed.cmu.ac.th/th/knowledge-61
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่