ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

อัลตราซาวด์ในสตรีตั้งครรภ์



ผศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ

หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รหัสเอกสาร PI-IMC-096-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566



       การตรวจอัลตราซาวด์หรือคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจที่ทำให้เรามองเห็นทารกและสภาพแวดล้อมในครรภ์ได้มากกว่าการตรวจคลำหน้าท้อง โดยทั่วไปการตั้งครรภ์ครั้งหนึ่ง ๆ ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในไตรมาสที่สอง แต่ที่เหมาะสมกว่าคือควรจะได้รับการตรวจตั้งแต่ไตรมาสแรก จริง ๆ แล้วการตรวจอัลตราซาวด์ทำให้เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้หลายอย่าง ซึ่งการตรวจในช่วงเวลาที่ต่างกันก็ให้ข้อมูลที่ต่างกันไป ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ แล้วเมื่อไหร่ อย่างไรจึงจะเหมาะสม ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และอาการของคุณแม่เป็นสำคัญ


       เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ คุณแม่บางท่านจำประจำเดือนไม่ได้ชัดเจนว่ามาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ บางท่านมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีอาการปวดท้อง การอัลตราซาวด์จะมีประโยชน์ในการยืนยันการตั้งครรภ์ ว่าเป็นการตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก เพราะหากตั้งครรภ์นอกมดลูกถือเป็นภาวะที่ต้องให้การดูแลอย่างรีบด่วน นอกจากนี้จะทำให้ทราบว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ เป็นครรภ์ปกติหรือไม่ ท้องลมหรือเปล่า การตั้งครรภ์นั้นมีทารกกี่คน ทารกมีชีวิตปกติหรือไม่ มีก้อนของมดลูกหรือรังไข่หรือไม่


       เมื่ออายุครรภ์ 11 -13 สัปดาห์ จะเป็นการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรม โดยจะมีการวัดความยาวตัว วัดความหนาต้นคอ และดูลักษณะกระดูกจมูกของทารกในครรภ์ เพื่อใช้ประกอบกับการตรวจเลือดหาความเสี่ยงที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรม หากไม่เคยอัลตราซาวน์มาก่อน การตรวจครั้งนี้จะช่วยยืนยันอายุครรภ์ที่ถูกต้อง และตรวจหาก้อนที่มดลูกหรือรังไข่ได้อีกด้วย


       เมื่ออายุครรภ์ 18 – 22 สัปดาห์ ควรจะได้รับการตรวจทารกอย่างละเอียด เพื่อหาว่าทารกมีความผิดปกติทางโครงสร้างหรือไม่ อวัยวะผิดปกติหรือเปล่า น้ำคร่ำเป็นอย่างไร มีภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่ ซึ่งการตรวจครั้งนี้เป็นการตรวจที่จำเป็น หากมีโอกาสที่จะตรวจอัลตราซาวด์ได้เพียงครั้งเดียว ควรเลือกตรวจในช่วงอายุครรภ์นี้


       เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทารกบางรายอาจมีความผิดปกติของการเจริญเติบโตหรือปริมาณน้ำคร่ำ โดยทั่วไปจะได้รับการอัลตราซาวด์เมื่อสงสัยภาวะดังกล่าวจากการตรวจหน้าท้อง อย่างไรก็ตามในรายที่คุณแม่มีความเสี่ยง เช่น มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคภูมิต้านทานตัวเอง อ้วน หรือต้องการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ก็สามารถตรวจได้ นิยมทำในช่วงอายุครรภ์ 28 – 32 สัปดาห์

       สำหรับครรภ์แฝด หรือครรภ์ที่ทารกมีความผิดปกติจะได้รับการตรวจบ่อยขึ้นตามภาวะโรคนั้น ๆ

       อย่างไรก็ตามการตรวจอัลตราซาวด์ไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดของทุกอย่างภายในครรภ์ได้ เนื่องจากการตรวจก็เป็นเพียงภาพและเงา เด็กมีการเคลื่อนไหวไปมา บางรายนอนคว่ำ แม่บางท่านหน้าท้องหนา หรือมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของการตรวจ ดังนั้น จึงไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทารกในครรภ์จะปกติ แม้อัลตราซาวด์จะตรวจไม่พบอะไร หรือความผิดปกติบางอย่างของทารกในครรภ์เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น อัลตราซาวด์ไตรมาสสองไม่พบความผิดปกติ แต่เมื่อทารกเจริญเติบโตอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นมาได้



เอกสารอ้างอิง

(1)Committee Opinion No 700: Methods for Estimating theDue Date. ObstetGynecol 2017;129:e150-e4.

(2) Salomon LJ, Alfirevic Z, Berghella V, Bilardo C, Hernandez-Andrade E, Johnsen SL, et al. Practice guidelines for performance of the routine mid-trimester fetal ultrasoundscan. Ultrasound ObstetGynecol 2011;37:116-26.

(3) AIUM-ACR-ACOG-SMFM-SRU Practice Parameter for thePerformance of Standard Diagnostic Obstetric Ultrasound Examinations. J Ultrasound Med 2018;37:E13-e24



สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด