ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-083-R-00
อนุมัติวันที่ 31 สิงหาคม 2558
การผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องหรือเรียกสั้นๆ ว่าการผ่าตัดผ่านกล้อง จัดเป็นการผ่าตัดยุคใหม่ที่รุกล้ำน้อย (Minimally invasive surgery) ซึ่งมีหลักสำคัญคือ แผลขนาดเล็ก เจ็บปวดน้อย หายเร็ว และสวยงาม แต่ยังคงมีประสิทธิภาพเฉกเช่นเดียวกับการผ่าตัดผ่านแผลหน้าท้องขนาดใหญ่แบบดั้งเดิม โดยทั่วไปการผ่าตัดผ่านกล้องจำเป็นต้องมีแผลบนผนังหน้าท้องขนาดเล็กๆ ยาว 0.5-1.0 เซนติเมตร จำนวน 3-5 แผล (ขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด) เพื่อใช้เป็นทางผ่านเข้าไปของเครื่องมือผ่าตัดและกล้องส่องช่องท้องที่เรียกว่า แลปพาโรสโคป ซึ่งต่อเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณเพื่อแสดงผลที่หน้าจอภาพ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในช่องท้อง อุ้งเชิงกราน และควบคุมการผ่าตัดจากภายนอกช่องท้องได้ ผ่านทางเครื่องมือที่สอดผ่านแผลบริเวณหน้าท้องเข้าไป อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในการผ่าตัดที่ซับซ้อนและยากๆ อาจทำให้ใช้เวลาในการผ่าตัดนาน จึงมีการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดขึ้นเพื่อเอาชนะความยากลำบากของการผ่าตัดผ่านกล้องแบบปกติทั่วไป
การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายแม้ว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถผ่าตัดได้เอง อันที่จริงแล้วการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ช่วย (Computer assisted) ให้แพทย์ควบคุมการผ่าตัดผ่านทางแขนกลของหุ่นยนต์ ซึ่งทำหน้าที่ถือกล้องส่องช่องท้องและเครื่องมือผ่าตัดต่างๆ ที่สอดผ่านแผลเล็กบริเวณผิวหนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง โดยแพทย์จะนั่งที่ส่วนคอนโซลควบคุมการผ่าตัดอยู่ในห้องผ่าตัดแต่ห่างจากบริเวณเตียงผ่าตัดออกมา จึงอาจเรียกว่าเป็นการผ่าตัดโดยควบคุมแขนกลจากระยะไกล (Remote tele-presence manipulator) จุดเด่นของการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ ได้แก่ ภาพที่แพทย์มองเห็นผ่านกล้องเป็นระบบภาพสามมิติ (รูปที่ 1) สามารถมองเห็นความชัดลึกทำให้กะระยะได้ถูกต้องแม่นยำเพิ่มขึ้นกว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทั่วไป ประกอบกับเครื่องมือผ่าตัดที่ถือโดยแขนกลของหุ่นยนต์นั้นได้รับการพัฒนามาเพื่อลดข้อจำกัดของข้อมือมนุษย์ คือ สามารถงอทำมุมต่างๆ และหมุนได้อิสระโดยรอบ (รูปที่ 2) ทำให้เคลื่อนไหวได้ดีกว่าเครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องทั่วไป การผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อต่างๆ จึงมีความแม่นยำสูง สามารถผ่าตัดในที่เล็กๆ และแคบๆได้ดี ทั้งยังช่วยลดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงลง การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนและยากเมื่อทำผ่าตัดผ่านกล้องทั่วไปนั้น กลับง่ายดายเหมือนการผ่าตัดผ่านแผลเปิดหน้าท้องขนาดใหญ่ดั้งเดิม
ภาพที่มองเห็นจากกล้องเป็นภาพที่มีความคมชัดและเป็นแบบ 3 มิติ
ปลายเครื่องมือผ่าตัดที่สามารถงอพับและหมุนได้อย่างอิสระคล้ายมือของมนุษย์
ศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาให้บริการผู้ป่วยเป็นแห่งแรกในภูมิภาค ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2555 โดยระบบที่มีใช้อยู่ คือ da Vinci Surgical System รุ่น Si HD ซึ่งเป็นระบบหุ่นยนต์รุ่นล่าสุดที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นระบบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐ ให้ใช้ผ่าตัดในผู้ป่วยตั้งแต่ ปีพ.ศ.2543 และให้ใช้ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยทางนรีเวชตั้งแต่ ปีพ.ศ.2548 เป็นต้นมา มีส่วนประกอบสามส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ (1) ส่วนคอนโซลควบคุมการผ่าตัด (Surgical Console) (รูปที่ 3) เป็นจุดศูนย์กลางของการควบคุมระบบ ซึ่งแพทย์สามารถมองเห็นบริเวณผ่าตัดและควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้องส่องช่องท้องและเครื่องมือต่างๆ (2) ส่วนหุ่นยนต์ผ่าตัด (Patient-Side Cart) (รูปที่ 4) ประกอบด้วยแขนกล 3-4 แขนกล โดยเป็นแขนกลที่ใช้ถือกล้องส่องช่องท้องหนึ่งแขน ที่เหลือเป็นแขนกลที่ใช้ถือเครื่องมือผ่าตัด และ (3) ส่วนชุดอุปกรณ์เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Cart) (รูปที่ 5) ประกอบด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งซอฟแวร์ที่จำเป็นต่อระบบการผ่าตัด เช่น จอภาพ เครื่องจี้ไฟฟ้า (Electrical surgical unit) เครื่องปั๊มสำหรับต่อท่อดูดล้าง เครื่องเป่าแก๊สเข้าช่องท้อง (insufflator) และแหล่งกำเนิดแสงสำหรับกล้องส่องช่องท้อง
ส่วนคอนโซลควบคุมการผ่าตัด
ส่วนหุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีแขนกล 4 แขน
ส่วนชุดอุปกรณ์เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และส่วนหุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีแขนกล 4 แขน (ด้านหลัง)
มีข้อดีอะไรบ้าง ?
1. ช่วยให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนและยากเมื่อทำผ่านกล้องส่องช่องท้องปกตินั้น ทำได้ง่ายขึ้นเมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น และลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดลง
2. เครื่องมือที่ใช้ผ่าตัดสามารถงอและเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระดีกว่าข้อมือของมนุษย์ ทำให้การผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อมีความละเอียดแม่นยำมากขึ้น
3. เพิ่มประสิทธิภาพของการมองเห็นภาพที่มีคุณภาพสูงระดับ HD และแบบ 3 มิติ ทำให้การผ่าตัดที่มีความละเอียดสูง เช่น การเลาะต่อมน้ำเหลืองหรือการเลาะเส้นประสาททำได้แม่นยำ
4. ช่วยลดความเหนื่อยล้าของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัดลง เนื่องจากนั่งควบคุมการแขนกลของหุ่นยนต์ผ่าตัดที่คอนโซลซึ่งมีความนิ่งและมีระบบช่วยไม่ให้มือสั่นมีผลต่อเครื่องมือผ่าตัด
5. ประโยชน์อื่นๆที่ได้รับจากการผ่าตัดที่รุกล้ำน้อย (Minimally invasive surgery) ได้แก่ แผลเล็ก เจ็บปวดแผลน้อย ระยะเวลานอนโรงพยาบาลและพักฟื้นสั้นกว่า
มีข้อด้อยอะไรบ้าง ?
1. มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่และใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน
2. เนื่องจากการผ่าตัดนั้น แพทย์ต้องควบคุมเครื่องมือผ่าตัดจากส่วนคอนโซลควบคุมแขนกลของส่วนหุ่นยนต์ ทำให้ขาดการรับประสาทสัมผัสไป แม้ว่าจะชดเชยได้บางส่วนจากคุณภาพของภาพที่มีความคมชัดและ 3 มิติ แต่เป็นข้อจำกัดที่สำคัญ การได้รับการฝึกอบรมและประสบการณ์ของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
ทีมผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชโดยใช้หุ่นยนต์
การผ่าตัดทางนรีเวชใดบ้างที่สามารถทำได้โดยใช้ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัด ?
แม้ว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชทุกชนิดสามารถทำได้โดยใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy), การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Myomectomy), การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดในสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน (Sacrocolpopexy/hysteropexy), การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคนในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก (Radical hysterectomy), การผ่าตัดมดกับลูกรังไข่และผ่าตัดเพื่อกำหนดระยะโรค (Surgical staging surgery)ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก,และการผ่าตัดต่อหมัน (Tubal reanastomosis) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์มีค่าใช้จ่ายที่สูงและมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะ การเลือกผ่าตัดวิธีนี้จึงพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ขึ้นกับโรคและความซับซ้อนของการผ่าตัด ตลอดจนความพร้อมของผู้ป่วยและทีมแพทย์พยาบาล ซึ่งคุณควรอภิปรายกับแพทย์ผู้ผ่าตัดในรายละเอียด
ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
------------------------------------------------------------
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด