ข้อมูลโดย ผศ.นพ.ศักรินทร์ อัษญคุณ
ภาพโดย อ.พญ.ปรียานุช คุณทรงเกียรติ
รหัสเอกสาร PI-IMC-089-R-00
อนุมัติวันที่ 23 มกราคม 2563
ตาปลอม คืออะไร
ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญบนใบหน้า ที่นอกจากจะใช้สำหรับการมองเห็นแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในด้านรูป ลักษณ์บนใบหน้าและการใช้ชีวิตในสังคม ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สูญเสียดวงตาจากสาเหตุต่างๆ เช่น ลูกตาติดเชื้อ อุบัติเหตุต่อลูกตา มะเร็งในลูกตา ฯลฯ
ตาปลอม คือ วัสดุทดแทนดวงตาที่สวมไว้บริเวณร่องตา ซึ่งอยู่ภายใต้เปลือกตาบนและล่าง เพื่อแก้ไขรูปลักษณ์ให้กลับมาดูใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ตาปลอม มีกี่แบบ
1. ตาปลอมสำเร็จรูป (ready-made eye prosthesis หรือ stock eye ) คือ ตาปลอมที่ประดิษฐ์ไว้ล่วงหน้า สามารถลองสวมใส่ได้ทันที แต่อาจมีขนาดไม่พอดีกับร่องตา รวมถึงสีและขนาดของตาดำก็อาจไม่เหมือนกับตาอีกข้าง
2. ตาปลอมเฉพาะบุคคล (custom-made eye prosthesis) คือ ตาปลอมที่ประดิษฐ์ขึ้นให้มีขนาดพอดีเฉพาะกับร่องตาของผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงมีการทำสีให้ใกล้เคียงกับตาอีกข้างมากที่สุด แต่อาจต้องใช้เวลาในการทำนานและมีราคาสูงกว่าตาปลอมสำเร็จรูป
กระบวนการผลิตตาปลอมเฉพาะบุคคล
กว่าจะได้ตาปลอมเฉพาะบุคคลมา 1 ชิ้น ต้องผ่านกระบวนการประดิษฐ์ที่ซับซ้อน โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายขั้นตอน ดังนี้
1. พิมพ์ร่องตา ด้วยวัสดุทางทันตกรรมที่ทันตแพทย์ใช้ในการพิมพ์ฟัน
2. ทำแบบขี้ผึ้ง จากต้นแบบที่พิมพ์มาจากร่องตาของผู้ป่วย
3. ปรับรูปร่างของแบบขี้ผึ้ง ให้สวมพอดีกับร่องตาของผู้ป่วยและมีขนาดเท่ากับตาข้างปกติ จากนั้นจึงยึดก้านอลูมิเนียมตรงตำแหน่งของตาดำ
4. ทำเบ้าหล่อตาปลอม จากแบบขี้ผึ้ง จากนั้นจึงนำเบ้าที่ได้ไปหล่อตาปลอมจากอะคริลิกสีขาว
5. ฝนและทำสีตาปลอม ให้ใกล้เคียงกับตาข้างที่ปกติมากที่สุด
6. เคลือบอะคริลิกใส แล้วขัดเงาเพื่อให้ตาปลอมมีผิวเรียบลื่นสวมใส่สบาย และมีความแวววาวสวยงามใกล้เคียงกับตาจริง
คำแนะนำสำหรับผู้สวมตาปลอม
- ควรมาพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็คสภาพและขัดเงาตาปลอม รวมถึงตรวจตาข้างที่ปกติ
- ควรสวมใส่ตาปลอมตลอดเวลาเพื่อรักษารูปร่างของร่องตา การถอดตาปลอมบ่อยเกินความจำเป็น อาจทำให้หนังตาหย่อน หนังตาตกและทำให้ร่องตาเปลี่ยนรูปร่างได้
- การถอดตาปลอมเพื่อทำความสะอาดเพียง 1 ครั้งต่อเดือนก็เพียงพอแล้ว โดยใช้แชมพูเด็กอ่อนหรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด เพราะจะทำให้ผิววัสดุเสียหาย
- การมีขี้ตาเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการใส่ตาปลอม แต่หากมีขี้ตามากผิดปกติหรือมีอาการระคายเคืองร่วมด้วย อาจแสดงถึงการติดเชื้อ และควรมาพบจักษุแพทย์
- สำหรับในผู้ป่วยบางราย แม้จะทำตาปลอมเฉพาะบุคคลแล้ว แต่ยังดูไม่เหมือนตาข้างที่ปกติ ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่สามารถช่วยลดการสังเกตตาข้างที่ผิดปกติได้ เช่น การสวมแว่นกรอบหนา การใช้เลนส์แว่นสีชา การฝึกหันหน้าไปในทิศทางที่ต้องการมองเห็นแทนการกลอกตา เป็นต้น
- สิ่งสำคัญที่สุด คือ การดูแลรักษาดวงตาข้างที่ปกติให้ดี หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อดวงตา สวมแว่นตาป้องกัน รวมถึงมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ
ขั้นตอนการเข้ารับบริการ คลินิกตาปลอม ศูนย์ศรีพัฒน์ฯ
คลินิกตาปลอม เปิดให้บริการทุกวันพุธ และวันพฤหัสบดี เวลา 09.00-16.00 น.
- คนไข้จะได้รับการตรวจประเมินลักษณะร่องตาและตาข้างที่ปกติอย่างละเอียดก่อนทำการพิมพ์ตา หากร่องตามีสภาพที่ยังไม่เหมาะกับการใส่ตาปลอม อาจต้องรับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติให้เรียบร้อย และรอให้แผลหายสนิทก่อนเป็นเวลาประมาณ 8 สัปดาห์ จึงสามารถทำการพิมพ์ตาได้
- การทำตาปลอมใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน วันแรก คือ วันพิมพ์ตา วันที่ 2 คือ วันลงสีและเคลือบอะคริลิกใส เมื่อทำการขัดชิ้นงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว คนไข้สามารถลองสวมและรับชิ้นงานกลับบ้านได้
แม้ตาปลอมจะไม่สามารถทำให้ดวงตาที่บอดกลับมามองเห็นได้ปกติ แต่ตาปลอมจะช่วยเสริมสร้างให้รูปลักษณ์ใบหน้าที่ผิดรูปไปจากเดิม กลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุดส่งผลให้คนไข้คลายความกังวล เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง และกล้าที่จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat
หรือ เพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด
Facebook : SriphatMedicalCenter