รศ. นพ. ดิเรก ผาติกุลศิลา
อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำวุ้นตา จอประสาทตา และต้อกระจก
รหัสเอกสาร PI-IMC-077-R-00
อนุมัติวันที่ 22 สิงหาคม 2562
การผ่าตัดต้อกระจกมีกี่วิธี
วิธีการผ่าตัดผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันนิยมทำ 2 วิธี คือ
1. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบมาตรฐาน (Conventional phacoemulsification)
2. การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจก (Femtoscend Laser Assisted Cataract Surgery, FLACS)
การผ่าตัดควรใช้การฉีดยาชาหรือวางยาสลบ
โดยทั่วไปมักใช้ยาชาแบบหยอดหรือฉีด ยกเว้นในคนที่กลัวหรือไม่ร่วมมือในการผ่าตัด อาจใช้วิธีวางยาสลบได้การเลือกใช้ยาชาอาจใช้ยาชาแบบหยอดหรือแบบฉีดก็ได้ ขึ้นกับความสะดวก ความยากง่ายของการผ่าตัด และความร่วมมือของผู้ป่วย
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกแบบมาตรฐานเป็นอย่างไร
ขั้นตอนการทำผ่าตัดต้อกระจก ประกอบด้วย
1. การเปิดแผลเล็กๆ บริเวณขอบตาดำ
2. การเปิดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้าเป็นวงกลม
3. ใช้เข็มที่ขับเคลื่อนด้วยอัลตร้าซาวน์สอดผ่านแผลเข้าไปดูดเนื้อเลนส์ที่ขุ่นออก
4. ดูดล้างเศษเลนส์ออกให้สะอาด
5. ใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้
6. ล้างสารหนืดที่ใช้ในการใส่เลนส์ตาเทียมออก
7. ปิดแผล
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกโดยใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดเป็นอย่างไร
การผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นตอนการใช้เลเซอร์ใช้เวลาทำประมาณ 3-5 นาที โดยช่วงเลเซอร์จะใช้เวลาเพียง 30-45 วินาทีเท่านั้น
2. ขั้นตอนการผ่าตัดโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแบบเดียวกับการผ่าตัดโดยวิธีมาตรฐาน แต่จะใช้เวลาสั้นลงกว่าการผ่าตัดแบบมาตรฐาน เนื่องจากถุงเลนส์และเนื้อเลนส์ถูกตัดด้วยเลเซอร์มาแล้ว
ใช้เลเซอร์ทำอะไรบ้าง
เลเซอร์ที่ใช้เป็นชนิด Femtosecond laser นำมาช่วยผ่าตัดในบางขั้นตอนที่สำคัญเท่านั้น โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเลเซอร์ ร่วมกับใช้เทคโนโลยีการสแกนภาพดวงตาแบบ 3 มิติ ที่เรียกว่า Optical coherence tomography ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น
ขั้นตอนที่ใช้เลเซอร์ประกอบด้วย
1. การเปิดแผลที่ขอบตาดำ แพทย์สามารถออกแบบลักษณะของแผลในคอมพิวเตอร์และเปิดแผลด้วยเลเซอร์ทำให้ได้แผลที่มีลักษณะตามที่วางแผนไว้
2. การเปิดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้า ทำให้ได้ขนาดของรูเปิดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้าตามที่ต้องการอย่างแม่นยำ ทำให้แพทย์สามารถใส่เลนส์เทียมเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดของถุงหุ้มเลนส์ จึงช่วยให้ได้ค่าสายตาหลังผ่าตัดมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
3. การตัดเนื้อเลนส์เป็นชิ้นๆ ทำผ่าตัดได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น ช่วยลดพลังงานจากเครื่องสลายต้อกระจกด้วยอัลตร้าซาวน์ทำให้ลดผลกระทบต่ออวัยวะในลูกตา
ประโยชน์ของการใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัดต้อกระจกมีอะไรบ้าง
• การตัดเนื้อเยื่อด้วยเลเซอร์มีความแม่นยำสูง เนื่องจากใช้เทคโนโลยีการสแกนภาพดวงตาแบบ 3 มิติ และควบคุมการใช้เลเซอร์ด้วยคอมพิวเตอร์
• ลดการใช้พลังงานจากคลื่นเสียงความถี่สูง จึงลดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง
• ให้ผลการมองเห็นที่ดี เนื่องจากการวางเลนส์ได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม
• ลดโอกาสเกิดสายตาเอียงที่เกิดจากแผลผ่าตัด
ใครที่เหมาะกับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์
• ต้อกระจกทุกราย ที่ไม่มีข้อห้าม (ข้อห้าม ได้แก่ รูม่านตาไม่ขยาย)
• คนที่ต้องการใส่เลนส์เทียมชนิดหลายระยะจะได้ประโยชน์จากการใช้เลเซอร์มากที่สุด แม้ว่าคนที่ใส่เลนส์ชนิดดูไกลแบบมาตรฐาน หรือชนิดแก้สายตาเอียงก็ได้ประโยชน์เช่นกัน
• คนที่เจาะถุงเลนส์ส่วนหน้ายาก ถ้าผ่าตัดแบบไม่ใช้เลเซอร์ เช่น คนที่มีเส้นใยยึดเลนส์ไม่แข็งแรง คนที่ถุงเลนส์เป็นพังผืด
• คนที่เซลล์ชั้นผิวหลังของกระจกตาไม่แข็งแรง เนื่องจากเลเซอร์ช่วยลดพลังงานจากการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง จึงช่วยลดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อผิวหลังของกระจกตาที่บอบบาง
• ต้อกระจกที่เนื้อเลนส์นิ่มมากๆ หรือแข็งมากๆ เนื่องจากเป็นชนิดของต้อกระจกที่ผ่าตัดยากกว่าต้อกระจกที่มีความแข็งปานกลาง
ใครที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์
• คนที่ช่องเปิดระหว่างเปลือกตาบนและเปลือกตาล่างแคบมาก
• คนที่รูม่านตาไม่ขยาย
• คนที่ต้อกระจกสุกมากๆ
เลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular lens, IOL) มีกี่ชนิด
หลังจากสลายต้อกระจกออกไปแล้วจะต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เพื่อให้หลังผ่าตัดมีการมองเห็นที่ดีปัจจุบันมีเลนส์แก้วตาเทียมให้เลือกใช้หลายชนิด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยแต่ละคนจะเหมาะสำหรับเลนส์ชนิดใด ควรต้องปรึกษาแพทย์เป็นรายๆ ไป
ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม ได้แก่
1. เลนส์แก้วตาเทียมแบบมาตรฐาน(Monofocal IOL) เป็นเลนส์ที่เน้นการใช้งานระยะไกล กล่าวคือให้ภาพที่คมชัดระยะไกล แต่เวลาดูใกล้ต้องใส่แว่นตาช่วย
2. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) สามารถลดสายตาเอียงลงได้ จึงช่วยให้การมองระยะไกลดี แต่เวลาดูใกล้ยังคงต้องใส่แว่นตาช่วย
3. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดหลายระยะ (Multifocal IOL) ช่วยให้มองเห็นได้ทั้งระยะไกลและใกล้ (Bifocal) หรือไกลกลางและใกล้ (Trifocal) อย่างไรก็ตามเลนส์แก้วตาเทียมแบบนี้อาจออกแบบให้ดูได้ในระยะไกลและระยะกลาง แต่ดูใกล้ยังคงต้องใส่แว่นช่วย
4. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดหลายระยะและแก้ไขสายตาเอียง (Multifocal and toric IOL) เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใส่เลนส์แก้วตาเทียมแบบหลายระยะ แต่มีสายตาเอียงร่วมด้วย
เลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular lens, IOL)ชนิดใดที่เหมาะสมกับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์
ไม่ว่าจะใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดใดก็ได้ประโยชน์จากการใช้เลเซอร์ช่วยการผ่าตัดต้อกระจกทั้งนั้น แต่คนที่ใส่เลนส์เทียมชนิดหลายระยะจะได้ประโยชน์จากการใช้เลเซอร์มากที่สุด คนที่ต้องการใส่เลนส์เทียมชนิดหลายระยะจะได้ประโยชน์จากการใช้เลเซอร์มากที่สุด แม้ว่าคนที่ใส่เลนส์ชนิดดูไกลแบบมาตรฐานหรือชนิดแก้สายตาเอียงก็ได้ประโยชน์เช่นกัน
การผ่าตัดต้อกระจกจำเป็นต้องใช้เลเซอร์หรือไม่
ไม่ได้จำเป็นเสมอไป แต่โดยทั่วเลเซอร์ก็ช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะกับต้อกระจกบางรายที่อาจผ่าตัดได้ยาก หรือรายที่เลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดหลายระยะ
การใช้เลเซอร์คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นหรือไม่
ในแง่ความคุ้มค่าอาจตอบได้ยากเพราะค่าใช้จ่ายในการใช้เลเซอร์ค่อนข้างสูง
แหล่งอ้างอิงรูปภาพจากhttp://www.myalcon.com, http://www.wickerparkeyecenter.com, http://www.mayoclinic.org
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : SriphatMedicalCenter