ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ





ผศ.นพ.ดำรงค์ วิวัฒนวงค์วนา 

อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างระบบท่อน้ำตาและต้อหิน 

รหัสเอกสาร PI-IMC-076-R-00

อนุมัติวันที่ 25 กรกฎาคม 2562


ต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ Meibomian gland dysfunction ( MGD )


        ต่อมไขมันที่เปลือกตาหรือที่เรียกว่าต่อม Meibomian gland คือ ต่อมไขมันเล็กๆ ที่เรียงอยู่บริเวณโคนขนตา ซึ่งมีจำนวน 30-40 ต่อมที่เปลือกตาบน และ 20-30 ต่อมที่เปลือกตาล่าง ทำหน้าที่ขับไขมันออกมาเคลือบผิวนอกของกระจกตา ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำตาและรักษาสมดุล ทำให้ตาของเรามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ


โดยปกติไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันที่เปลือกตาจะมีลักษณะสีเหลืองใส สามารถไหลออกจากต่อมโดยง่าย ถ้าต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ( Meibomian gland dysfunction ) ไขมันที่สร้างออกมาจะมีลักษณะขุ่นและเหนียวข้น ทำให้เกิดการอุดตันบริเวณท่อทางออกของต่อมไขมันที่อยู่บริเวณขอบเปลือกตา ทำให้น้ำมันออกจากท่อได้ยากและลดลงทำให้ชั้นของน้ำตาไม่คงตัว ขาดความเสถียร น้ำตาก็จะระเหยง่าย ส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งและส่วนของไขมันที่เหนียวข้นขึ้นนั้นจะแข็งเป็นคราบเกาะแน่นอยู่บริเวณขอบเปลือกตา ทำให้เกิดการระคายเคืองตาและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อทั้งจากแบคทีเรียและการเพิ่มจำนวนไรที่ขนตา



ปัจจัยเสี่ยง


1. โรคทางตา เช่น เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง , เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ , ภาวะตาแห้งจากการใส่ Contact lens


2. โรคทางกาย เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น , วัยทองเพศหญิง , โรคความดันโลหิตสูง } Pemphigoid , Psoriasis , โรคแพ้ยา Steven-johnson เป็นต้น


3. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่างๆ เช่น ยาต้อหิน , ยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน , ยารักษาต่อมลูกหมากโต ,ฮอร์โมนรักษาวัยทอง , ยาแก้แพ้ Retinoid และยารักษาโรคซึมเศร้า เป็นต้น


4. ไรที่ขนตา (Demodex)



การรักษาภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ หลักๆ คือ 


1. หยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดวงตา


2 การดูแลเปลือกตา ( Lid hygiene ) เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

 

2.1 การประคบอุ่นบนเปลือกตา ( Eyelid warming )

จะช่วยให้ไขมันที่เหนียวข้นและอุดตันท่อทางออกของต่อมไขมันละลายตัว และขับออกมาจากต่อมได้ดีขึ้น วิธี การ คือ ใช้อุปกรณ์ เช่น เจลร้อนผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือ เครื่อง Blephasteam ซึ่งจะให้ความร้อนที่คงที่และเหมาะสมตลอดการประคบอุ่น เป็นต้น โดยใช้ความร้อนที่เหมาะสมประมาณ 40 องศาเซลเซียส บริเวณเปลือกตาทั้งสองข้างเป็นเวลา 10 - 15 นาที หากเลือกใช้เจลร้อนหรือผ้าควรระวังไม่ให้ร้อนเกินไป จะทำให้ผิวหนังไหม้และเกิดอาการบาดเจ็บได้



2.2 การนวดเปลือกตา (Massage of the eyelids )


เพื่อกดไขมันที่อุดตันอยู่ภายในต่อมให้ออกมา วิธีการ คือ ใช้นิ้วมือดึงหางตาให้เปลือกตาตึง และใช้นิ้วของมืออีกข้างในการนวดเปลือกตา เมื่อจะนวดเปลือกตาบนให้มองลงล่างและใช้นิ้วนวดจากบนลงล่าง หากจะนวดเปลือกตาล่างให้มองขึ้นบนและใช้นิ้วนวดจากล่างขึ้นบน โดยออกแรงกดพอสมควรและเริ่มนวดจากหัวตาไปสู่หางตา เพื่อที่จะได้นวดต่อมไขมันที่เรียงอยู่บริเวณโคนขนตาได้ตลอดแนวยาวของเปลือกตา 


2.3 การทำความสะอาดขอบเปลือกตา( lid cleansing ) 


วิธีการทำความสะอาด คือ นำสำลีชนิดแผ่นชุบด้วยน้ำอุ่นที่ผสมกับยาสระผมสำหรับเด็กอ่อน อัตราส่วน 1:1 หรือใช้น้ำยาเฉพาะสำหรับทำความสะอาดเปลือกตา โดยเช็ดบริเวณขอบเปลือกตาและโคนขนตาให้สะอาด วันละ 1-2 ครั้งหรืออาจใช้แผ่นเช็ดหรือโฟมที่ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะก็ได้




หากหยอดน้ำตาเทียมร่วมกับดูแลเปลือกตาด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาเพิ่มเติม ดังนี้

1. หยอดยาหรือป้ายยาปฏิชีวนะกลุ่ม Azythromycin เพื่อลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สะสมบริเวณต่อมไขมันที่เปลือกตา เพราะแบคทีเรียมักทำให้ต่อมไขมันที่เปลือกตามีการอักเสบมากขึ้น หรือหยอดยากลุ่ม Cyclosporine และ/หรือสเตียรอยด์ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีที่กระจกตาและเปลือกตามีการอักเสบมากเท่านั้น โดยยากลุ่มสเตียรอยด์จะใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ และต้องระวังผลแทรกซ้อนของยา โดยเฉพาะอาจทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเป็นต้อหินได้ 


2. รับประทานยากลุ่มเตตราไซคลิน ( Tetracyclin ) เพื่อช่วยลดจำนวนแบคทีเรียและลดการอักเสบบริเวณต่อมไขมันที่เปลือกตา

 

3. การรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีรายงานว่าสามารถช่วยลดการอักเสบในโรคนี้ได้


4. เครื่องมือการรักษาที่เรียกว่า LipiFlow system

เป็นขั้นตอนที่ใช้ความร้อนที่เพียงพอกับเปลือกตา ช่วยให้ความร้อนประมาณ 42 องศาเซลเซียส และกดบริเวณเปลือกตาเพื่อช่วยละลายต่อมน้ำมันที่อุดตัน 30-40 ต่อม นาน 12 นาที ทำให้ไขมันไหลได้ดีขึ้นและขับน้ำตาที่มีส่วน ประกอบสมบูรณ์ออกมาช่วยหล่อเลี้ยงดวงตา โดยอาศัยอุปกรณ์ (Activator) ที่อ่อนนุ่ม 2 ชิ้น สำหรับครอบบนดวงตาเหนือเปลือกตา ซึ่งอุปกรณ์จะทำงานประสานกัน



ความสำคัญของการดูแลรักษา


หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาให้เหมาะสมและถูกวิธี ความผิดปกติก็จะพัฒนาทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ตัวต่อมที่ผลิตน้ำมันเสียคุณสมบัติและฝ่อไปในที่สุด (Gland dropout) จนไม่สามารถผลิตน้ำมันได้อีกต่อไป ส่งผลให้การรักษาภายหลังมีความยุ่งยากมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการแสบเคืองตา เจ็บเปลือกตา รวมทั้งมีอาการตาแห้งรุนแรงและเรื้อรัง (ระยะแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็ได้) และเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุตาและดวงตาได้ง่าย เนื่องจากจะมีเชื้อแบคทีเรียทวีจำนวนขึ้นมากกว่าปกติในบริเวณนี้ และหากต้องไปทำการผ่าตัดอื่นของดวงตา เช่นการผ่าตัดต้อกระจกหรือต้อหินก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรงเข้าในลูกตาได้ ดังนั้น จักษุแพทย์ของท่านก็จะทำการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเปลือกตาให้ท่านก่อนทำการผ่าตัดด้วยเสมอ รวมถึงให้การดูแลรักษาภาวะผิดปกตินี้ก่อนและหลังผ่าตัดให้ท่านด้วย



แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาจาก http://th.drderamus.com/62297-meibomian-gland-dysfunction


ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat




Facebook : SriphatMedicalCenter