อ.นพ. ณัฐพล เลาหเจริญยศ (อายุรแพทย์โรคไต)
นายณัฏฐากรรธ์ ลอยเลิศ (นักกำหนดอาหาร)
รหัสเอกสาร PI-IMC-073-Rev.01
อนุมัติวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
การควบคุมอาหารอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกของโรค จะช่วยชะลอความเสื่อมของไต โดยรับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำ ซึ่งจะมีผลให้ของเสีย (เช่น ยูเรีย) มีปริมาณน้อยลง ไตส่วนที่เหลือทำงานได้เบาลง
ระยะของโรคไตเรื้อรังมี 5 ระยะ แบ่งตามค่าการกรองของไต (หรือ eGFR)
ระยะที่ 1 ค่า eGFR ≥90%
ระยะที่ 2 ค่า eGFR = 60-89%
ระยะที่ 3 ค่า eGFR =30-59%
ระยะที่ 4 ค่า eGFR =15-29%
ระยะที่ 5 ค่า eGFR<15%
โปรตีน
- การรับประทานโปรตีนเข้าไป ร่างกายจะนำไปใช้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเกิดเป็นของเสีย ซึ่งไตทำหน้าที่ขจัดของเสียที่เกิดโปรตีนมากเกินไปก็จะทำให้ไตทำงานหนัก สำหรับผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมอาจจะทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ในทางกลับกัน ถ้ารับประทานน้อยเกินไปก็จะทำให้ขาดสารอาหาร ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไต
- เลือกโปรตีนคุณภาพดี (High Biological Protein) คือ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อหมูสันใน เนื้อหมูไม่ติดมัน อกไก่ ไข่ขาว และนมพร่องมันเนย หรือนมไขมันต่ำ
- หลีกเลี่ยงสัตว์เนื้อแดง (เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย) เนื้อสัตว์แปรรูป (เช่น หมูยอ ไส้กรอก แหนม แฮม ชีส)
- โรคไตเรื้อรัง (ระยะก่อนฟอกเลือด) หรือมีค่าการกรองไต (eGFR) ต่ำกว่า 30 ml/min/1.73m2 à เลือกอาหารที่มีโปรตีนน้อย หรือตามที่แพทย์กำหนด
สูตรคำนวณโปรตีน : น้ำหนักตัวที่เหมาะสม x (0.6-0.8) = โปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน (กรัม/วัน)
ตัวอย่าง เช่น น้ำหนักที่ควรจะเป็น 55 กิโลกรัม คำนวณโปรตีนได้ 55 x 0.8 = 44 กรัม/วัน
- โรคไตเรื้อรัง (ระยะหลังฟอกเลือด) à เลือกอาหารที่มีโปรตีนค่อนข้างสูง หรือตามที่แพทย์กำหนด
สูตรคำนวณโปรตีน : น้ำหนักตัวที่เหมาะสม x 1.2 = โปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน (กรัม/วัน)
ตัวอย่าง เช่น น้ำหนักที่ควรจะเป็น 55 กิโลกรัม คำนวณโปรตีนได้ 55 x 1.2 = 66 กรัม/วัน
ตัวอย่างการอ่านตาราง เช่น น้ำหนัก 55 กิโลกรัม ให้ดูที่ช่องน้ำหนัก 55-59 กิโลกรัม จะทราบโปรตีนที่ควรกินต่อวัน คือ 35 กรัม, เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว, ข้าวแป้ง 6 ทัพพี, ผักใบเขียว 3 ทัพพี, ผลไม้ 1 ส่วน, น้ำมัน 12 ช้อนชา
พลังงาน
- พลังงานในอาหารต้องเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหารและการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
- คนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงาน 35 กิโลแคลอรี/กิโลกรัมน้ำหนักตัวที่เหมาะสม/วัน
- ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีควรได้รับพลังงาน 30 กิโลแคลอรี/กิโลกรัมน้ำหนักตัวที่เหมาะสม/วัน
ตัวอย่าง เช่น อายุ 45 ปี น้ำหนักที่เหมะสม 55 กิโลกรัม พลังงานที่ควรได้รับ คือ 55x30=1,650 กิโลแคลอรี/วัน
ไขมัน
- เลือกน้ำมันชนิดที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูง ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น เลี่ยงน้ำมันชนิดที่มีไขมันอิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เนย และเบคอน เป็นต้น
คาร์โบไฮเดรต
- สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนฟอกเลือดเลือก แป้งปลอดโปรตีน ได้แก่ วุ้นเส้น แป้งมัน แป้งถั่วเขียว สาคู และเส้นเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น เป็นแป้งที่ไม่มีโปรตีนในส่วนประกอบ ทำให้ลดปริมาณโปรตีนต่อวันลงได้
ตัวอย่างเมนูอาหาร เช่น ยำวุ้นเส้น แกงจืดวุ้นเส้น ผัดวุ้นเส้น ยำก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ ครองแครงแก้ว ขนมชั้น ลืมกลืน สาคูน้ำเชื่อม ซาหริ่ม เป็นต้น
โพแทสเซียม (Potassium) จำกัด 2,000-3,000 มก./วัน
- โพแทสเซียม มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจ เมื่อมีไตเสื่อม การขับโพแทสเซียมจะลดน้อยลง ระดับโพแทสเซียมในเลือดควรน้อยกว่า 5 mEq/L
- ถ้าระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงมากเกินไปอาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้นได้ ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมระยะ 4-5 หรือระดับโพแทสเซียมสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง
- ผลไม้กลุ่มที่มีโพแทสเซียมสูง กินได้วันละ 1 ส่วน ส่วนผักกลุ่มที่มีโพแทสเซียมสูง กินได้วันละ 1 ทัพพี
- ถ้าระดับค่าโพแทสเซียมในเลือดมากกว่า 5.5 mEq/L ให้งดผลไม้
- ผักใบเขียวทุกชนิดสามารถกินได้ หากนำไปลวกหรือต้มก่อน เพื่อลดปริมาณโพแทสเซียมในผักลง
ฟอสฟอรัส (phosphorus) จำกัด 800-1,000 มก./วัน
- ฟอสฟอรัสหรือฟอสเฟต มีผลต่อความแข็งแรงของกระดูก ไตที่ปกติจะขับฟอสฟอรัสออกได้ แต่เมื่อมีไตเสื่อม การขับฟอสฟอรัสจะน้อยลง ทำให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้น
- เมื่อระดับฟอสฟอรัสสูงขึ้นจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง และแคลเซียมถูกดึงออกมาจากกระดูก ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง นอกจากนั้น ฟอสฟอรัสจะจับกับแคลเซียมที่อยู่ในเลือดเกิดเป็นหินปูนอยู่ตามหลอดเลือดหัวใจ,ข้อ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจตามมา
- ในผู้ป่วยทีมีไตเสื่อมระยะที่ 3-5 หรือระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนย คุกกี้ ขนมปัง ไอศกรีม กาแฟผง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วต่างๆ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง โอวัลติน ไมโล โกโก้ โคลา เป๊ปซี่ กาแฟใส่นม เบียร์ น้ำแร่ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด งา ทองหยิบ ทองหยอด ไข่แดง เมล็ดพืช แมลงต่างๆ เป็นต้น
- กลุ่มอาหารแปรรูป จะให้ฟอสฟอรัสที่มากกว่ากลุ่มอาหารธรรมชาติที่ไม่ผ่านการแปรรูป
โซเดียม (Sodium) จำกัด 2,000 มก./วัน
- การควบคุมอาหารเค็ม เป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีอาการบวม
- เทคนิคการควบคุมอาหารเค็ม ได้แก่ ทำอาหารลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารปรุงสำเร็จรูป ลดการเติมน้ำปลา/ซีอิ้ว/เกลือ ลงในอาหาร ไม่ควรใช้เกลือ/ซีอิ้ว/น้ำปลา สูตรโซเดียมต่ำ เนื่องจากมีส่วนประกอบเป็นเกลือโพแทสเซียม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- ใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศทดแทนรสชาติ เช่น ใบกระเพรา ใบโหรพา กระวาน พริกไทย ผักชีฝรั่ง หมาร่า เป็นต้น
- อาหารอื่นๆ ที่มีโซเดียมค่อนข้างสูง ได้แก่ อาหารแปรรูป (ไส้กรอก หมูยอ ปลาเค็ม) อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป (โจ๊กซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) อาหารกระป๋อง ของหมักดอง (ผักดอง ปลาร้า กะปิ) ขนมกรุบกรอบ (มันฝรั่งทอด) ผงฟู/เบรกกิ่งโซดา (ขนมปัง เค้ก เบเกอรี่) เป็นต้น
- ปริมาณโซเดียมที่ควรบริโภคคือ 2,000 มิลลิกรัม/วัน ดังนั้น การใส่เกลือ 1 ช้อนชาในอาหาร ก็จะได้โซเดียม 2,000 มิลลิกรัมแล้ว หันไปปรุงรสด้วยเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียมต่ำแทน
อาหารอื่นๆ ที่ควรระวัง
- ปริมาณน้ำที่ควรดื่ม คำนวณได้จากปริมาตรปัสสาวะต่อวัน + น้ำ 500 มิลลิลิตร
- งดดื่มสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน
- โรคไตมักจะขาดวิตามินบี 6 , วิตามินดี , กรดโฟลิก , ธาตุเหล็ก , ธาตุสังกะสีและแคลเซียม
หมายเหตุ
1. การลวกหรือต้มผักใบเขียวจะช่วยลดปริมาณโพแทสเซียมในผักลง
2. เลือกเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนคุณภาพสูงและการขับของเสียน้อย เช่น ไข่ขาว และเนื้อปลา เป็นต้น
3. ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง สามารถกินได้แต่ไม่เกินปริมาณที่กำหนด
4. อย่าเครียดจนไม่กินอาหาร เพราะจะทำให้อาการแย่ลงและเกิดภาวะขาดสารอาหารได้
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat
หรือ เพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด
Facebook : SriphatMedicalCenter