รศ.นพ.มติ เชื้อมโนชาญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง
รหัสเอกสาร PI-IMC-071-R-00
อนุมัติวันที่ 25 กรกฎาคม 2562
โรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่ผิวมัน (Seborrheic dermatitis)
เป็นโรคผิวหนังที่พบเจอได้บ่อย โดยช่วงอายุที่มักพบ ได้แก่ ทารกช่วง 3 เดือนแรก วัยรุ่น และ ผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 40-60 ปี โดยสาเหตุเชื่อว่าเกิดจากต่อมไขมันของผิวหนังสร้างไขมันออกมามากกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายพบเชื้อยีสต์ที่อาศัยอยู่เป็นปกติบนผิวหนังเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้ง 2 ปัจจัยหลักดังกล่าว ส่งผลให้มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้ เกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบตามมา นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกบางอย่างก็สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นได้ เช่น ความเครียด สภาพอากาศร้อน แสงแดด รวมถึงความแห้งของอากาศในช่วงฤดูหนาว
ผื่นในโรค Seborrheic dermatitis มีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยสีขาวอมเหลือง ซึ่งดูค่อนข้างมันปกคลุมอยู่ ในรายที่เป็นมากผื่นอาจมีสะเก็ดหนาได้ ผื่นมักพบบริเวณผิวหนังที่มีปริมาณต่อมไขมันมาก ได้แก่ ข้างจมูก คิ้ว ใบหู หลังหู หน้าอก แผ่นหลัง รักแร้ หรือบริเวณขาหนีบ นอกจากนี้ยังสามารถพบผื่นบริเวณไรผม หนังศีรษะได้ ซึ่งถ้าเป็นไม่รุนแรง แค่คันและมีสะเก็ดเล็กน้อย เรามักเรียกว่า “รังแค”
ผื่นในเด็กมักมีอาการไม่รุนแรงและหายไปเองเมื่อโตขึ้น ส่วนในผู้ใหญ่อาการมักเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ สำหรับการดูแลรักษา อันดับแรกที่สำคัญคือการดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดตามคำแนะนำข้างต้น หากผื่นยังเป็นมากควรปรึกษาแพทย์ โดยยาที่สามารถใช้รักษา ได้แก่ ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา และยาที่มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ ทั้งกลุ่มสเตียรอยด์ และไม่ใช่ สเตียรอยด์
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวมักแสดงอาการให้เห็นมากขึ้น สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบัน เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ พันธุกรรม การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เช่น การติดเชื้อ ความเครียด การบาดเจ็บของผิวหนังจากรอยแกะ เกา การรับประทานยาบางชนิดส่งผลให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น และเกิดเป็นผื่นที่มีความหนากว่าผิวหนังปกติ โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่สามารถติดต่อสู่คนรอบข้างได้
ผื่นสะเก็ดเงินพบได้หลายรูปแบบ ชนิดที่พบบ่อยเป็นปื้นหนาสีแดง ขอบเขตชัดเจน ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน โดยบริเวณที่พบผื่นบ่อยๆ ได้แก่ ข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง และหนังศีรษะ อย่างไรก็ตามอาจพบผื่นที่ผิวหนังบริเวณใดของร่างกายก็ได้ รวมทั้งที่เล็บ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนอาจพบการอักเสบของข้อร่วมด้วยได้ ในปัจจุบันมีข้อมูลพบว่าผู้ป่วยสะเก็ดเงินมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้
การรักษาสะเก็ดเงิน ประกอบด้วยยาทา การอบแสงพระอาทิตย์เทียม ยารับประทาน และยาฉีด จากความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน ทำให้ยารักษาสะเก็ดเงินในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง
วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยสะเก็ดเงินโดยทั่วไป คือ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ซึ่งได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อย การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การรับประทานยาบางชนิดที่สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาทางจิตเวช (Lithium) เป็นต้น ผู้ป่วยสะเก็ดเงินควรดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอด หากปล่อยให้ผิวแห้งคันมาก ทำให้ต้องเกา จะนำไปสู่การบาดเจ็บของผิวหนังและกระตุ้นให้ผื่นสะเก็ดเงินกำเริบขึ้นได้ นอกจากนี้ในช่วงฤดูหนาว ร่างกายอาจติดเชื้อระบบทางเดินหายใจง่ายขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผื่นสะเก็ดเงินกำเริบได้เช่นกัน ดังนั้น ควรรักษาภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
------------------------------------------------------------
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด