ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-106-R-00
อนุมัติวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559
เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้เมื่อมีปัญหามดลูกและหรือช่องคลอดหย่อน
1. การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อคืออะไร ?
2. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?
3. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?
4. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร ?
5. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ?
6. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ ?
การยื่นย้อยของช่องคลอดหรือมดลูกเป็นภาวะที่พบบ่อย พบว่าร้อยละ 11 ของสตรี จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ตลอดช่วงวัยของชีวิต การยื่นย้อยดังกล่าวมักเกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงมดลูกและช่องคลอดซึ่งเกิดขึ้นในขณะคลอด
อาการของการยื่นย้อยนี้ ได้แก่ มีก้อนนูนออกหรือรู้สึกตึงแน่นในช่องคลอด หรือมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาด้านนอก อาจทำให้มีรู้สึกถ่วงๆ หรือหน่วงๆ ลงมาในช่องคลอด หรือปวดหลังส่วนล่าง และขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ในผู้ป่วยบางคนอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์เล็กน้อยไปจนขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์
รูปที่ 1 การยื่นย้อยของมดลูก
รูปที่ 2 ช่องคลอดส่วนยอด (หลังผ่าตัดมดลูก)หย่อนร่วมกับภาวะยื่นย้อยของกระเพาะปัสสาวะและไส้ตรง
รูปที่ 3 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดกับเอ็นยึดกระดูกทั้งสองข้าง
การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน เป็นการผ่าตัดคล้ายคลึงกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูก แต่เย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดหรือปากมดลูกกับเยื่อพังผืดที่คลุมกล้ามเนื้อ ชื่อว่า Lleococcygeus แทนเอ็นยึดกระดูก ผลการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนเฉกเช่นเดียวกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูก กับเอ็นยึดกระดูก
รูปที่ 5 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดกับกล้ามเนื้อทั้งสองข้าง
ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?
คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไป และยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งการสืบค้นต่างๆ ที่จะจำเป็น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด
หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?
เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและสายสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 24 - 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
ในช่วง 4 - 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองคล้ายครีมได้เป็นปกติเกิดขึ้นได้เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆ และหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป หากตกขาวของคุณมีกลิ่นเหม็นผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ นอกจากนี้ คุณอาจมีตกขาวปนเลือดเล็กน้อยหลังผ่าตัดทันที หรือเริ่มเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เลือดที่เห็นมักมีลักษณะจางๆ และมีสีน้ำตาลแบบเลือดเก่าๆ ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวของลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ใต้ผิวช่องคลอดไหลปนตกขาวออกมาซึ่งจะหยุดได้เอง
การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร ?
กล่าวโดยทั่วไป ผลการผ่าตัดมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต หรือมีช่องคลอดด้านอื่นยื่นย้อยเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอีกต่อไป
มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ?
การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกนั้น ย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้ คือ ภาวะแทรก ซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆ ก็ตาม
ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วย มีความทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต การผ่าตัดสามารถทำได้ภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่ หรือการดมยาสลบทั่วไป วิสัญญีแพทย์ผู้ดูแลจะอภิปรายถึงวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับคุณ
เลือดออก ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้น พบน้อยหลังการผ่าตัดทางช่องคลอดทั่วไป
การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัด และพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง อาการของการติดเชื้อได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด ไข้ และปวดในอุ้งเชิงกราน หรือไม่สบายในช่องท้อง หากคุณรู้สึกไม่ปกติให้กลับมาพบแพทย์
การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดและพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ อาการที่พบ ได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อย และบางครั้งน้ำปัสสาวะมีเลือดปนได้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ
ต่อไปนี้ คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
ปวดบริเวณก้น พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกๆ หลังผ่าตัด และอาการจะดีขึ้นได้เอง สามารถแก้ไขด้วยการให้ยาระงับปวด นอกจากนี้ ยังพบอาการเจ็บแปลบหรือแสบในไส้ตรงได้ แต่เป็นอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ
ท้องผูก เป็นปัญหาระยะสั้นที่พบบ่อย และแพทย์อาจสั่งยาระบายเพื่อรักษา ให้พยายามรับประทานอาหารที่มีเส้นใย และดื่มน้ำปริมาณมากจะช่วยให้อาการดีขึ้น
เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางรายอาจมีอาการเจ็บปวด หรือรู้สึกไม่สบายในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัด แม้ว่าจะได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นทุกวิถีทางแล้วก็ตาม สตรีบางรายพบว่าการร่วมเพศนั้นสะดวกสบายมากขึ้นหลังผ่าตัด
เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ ?
ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังผ่าตัด คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ คุณควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และการเล่นกีฬาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 4 - 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณ ขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ
คุณควรรอเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางคนอาจจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ สารหล่อลื่นนี้สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาหรือซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยาครีมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนทาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือใช้ห่วงพยุงในช่องคลอด
หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาอ่านบทความเรื่อง "สตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน", "ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง"
เอกสารอ้างอิง
International Urogynecological Association (IUGA). Sacrospinous Fixation/Ileococcygeus Suspension: A Guide for Women. 2011
ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
------------------------------------------------------------
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด