อ.นพ.ภาณุเมศ ศรีสว่าง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด
รหัสเอกสาร PI-IMC-074-R-01
อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566
ศูนย์โรคหัวใจ Cardiac Center ให้บริการตรวจ ดังนี้
1.Echocardiogram การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง
Echocardiogram คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง ใช้หลักการส่งคลื่นเสียงที่ปลอดภัยผ่านทรวงอก แล้วรับเสียงที่สะท้อนออกมาไปแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ซึ่งจะแสดงให้ถึงรูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัว ใจ ว่าปกติหรือไม่ โดยการใช้หัวตรวจ (Transducer) ซึ่งจะส่งสัญญานเสียงไปยังหัวใจและรับสัญญาณเสียงกลับมาแปลงเป็นภาพให้เห็นบนจอ
การตรวจ Echocardiogram บอกอะไรบ้าง
1. เพื่อประเมินดูขนาดของหัวใจทั้ง 4 ห้อง ว่ามีภาวะหัวใจโตหรือเปล่า และสามารถดูความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจได้
2. เพื่อประเมินดูการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงและบีบตัวได้ดีหรือไม่
3. เพื่อประเมินดูการทำงานของลิ้นหัวใจ ว่ามีโรคของลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หรือความผิดปกติอื่นๆ หรือไม่
4. เพื่อประเมินดูโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง รวมถึงภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
5. ใช้ประเมินหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้น เพื่อประเมินโรคเกี่ยวกับหัวใจพิการแต่กำเนิด
ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 10-30 นาที โดยแพทย์อายุรศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ
โดยการตรวจ มี 2 ประเภท ดังนี้
1.1 Transthoracic Echocardiogram (TTE)
เป็นการตรวจที่ใช้บ่อยที่สุด เนื่องจากทำได้ง่าย สะดวก ไม่ต้องมีการเตรียมตัวที่ยุ่งยาก สามารถทำได้เลย โดยแพทย์จะใช้หัวตรวจวางในตำแหน่งต่างๆ บริเวณผนังหน้าอกด้านนอก ซึ่งผู้ป่วยจะต้องนอนตะแคงซ้ายกึ่งหงายเพื่อตรวจ การตรวจสามารถให้รายละเอียดต่างๆ ได้ดี แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผนังหน้าอกที่หนา หรือมีช่องระหว่างซี่โครงที่แคบ หรือผู้ป่วยที่มีผนังหน้าอกที่ผิดรูป อาจทำให้ได้ภาพที่ไม่ชัดเจนและส่งผลทำให้การแปลผลที่ลำบากได้
1.2 Transesophageal Echocardiogram (TEE)
เป็นการตรวจเพื่อบันทึกภาพของหัวใจ โดยการส่องกล้องผ่านทางหลอดอาหาร เพื่อบันทึกภาพของหัวใจจากด้านในของทางเดินอาหาร เนื่องจากทางเดินอาหารอยู่ด้านหลังของหัวใจ ทำให้การตรวจวิธีนี้สามารถเห็นการทำงานของหัวใจได้ชัดกว่าการตรวจแบบ Transthoracic Echocardiogram
โดยการตรวจชนิดนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกลืนหัวตรวจซึ่งมีลักษณะคล้ายกล้องผ่านทางปาก ก่อนการตรวจจะให้ผู้ป่วยอมยาชา และพ่นยาชาที่บริเวณในคอของผู้ป่วยก่อน เพื่อป้องกันการระคายคอและอาการเจ็บ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ Echocardiogram
การตรวจ Transthoracic Echocardiogram ถือว่าเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกบ้างบริเวณที่ต้องใช้แรงกดจากหัวตรวจ (Transducer) เพื่อทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งสามารถแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ได้ หากมีอาการเจ็บบริเวณที่ตรวจ
ส่วนการตรวจ Transesophageal Echocardiogram (TEE) สามารถพบอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ระคายคอ อึดอัด หายใจลำบากในขณะที่ทำการตรวจ เพราะผู้ป่วยต้องกลืนกล้องไว้ในปากช่วงเวลาที่ทำการตรวจ หรืออาจจะมีเลือดออกบริเวณช่องปากหรือลำคอ ซึ่งพบได้น้อย อาจมีชีพจรเต้นเร็วหรือช้า และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงซึ่งพบได้น้อยมาก คือ หลอดอาหารเป็นแผลหรือหลอดอาหารทะลุ
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดได้ หากมีโรคหรืออาการที่ผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการตรวจ ดังนี้
1. มีประวัติเคยได้รับการฉายแสงที่บริเวณลำคอหรือหน้าอก
2. โรคของหลอดอาหารต่างๆ เช่น โรคหลอดอาหารตีบ เป็นแผลรุนแรง โรคหลอดเลือดโป่งพองบริเวณหลอดอาหาร
3. โรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังบริเวณคอ
4. โรคที่เกี่ยวกับการกลืนลำบาก
5. โรคที่เกี่ยวกับภาวะการแข็งตัวของเลือด หรือทานยากันการแข็งตัวของเลือด
ขั้นตอนการตรวจ
1. ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเสื้อ และหากเป็นผู้หญิงต้องถอดเสื้อชั้นในออกด้วย เพื่อความสะดวกเวลาแพทย์ตรวจ
2. เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงราบตะแคงไปอกด้านซ้ายเล็กน้อย เปิดส่วนของเสื้อผ้าบริเวณหน้าอก และติดแผ่นขั้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามจุด ได้แก่ แขนทั้งสองข้าง และ ขา 1 จุด
3. แพทย์ทำการตรวจโดยใช้เจลใสป้ายบริเวณหน้าอก และใช้หัวตรวจกดบริเวณหน้าอก และขยับไปมาตามตำแหน่งที่ต้อง การให้เห็นภาพอาจมีการสั่งให้เปลี่ยนท่านอนได้ระหว่างการตรวจ เพื่อให้ได้ภาพที่หัวใจที่ชัดเจนที่สุด ระหว่างการทำผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ และหายใจตามปกติ เมื่อตรวจเสร็จเจ้าหน้าที่จะเช็ดเจลออกให้ ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้า และแพทย์สามารถแจ้งผลในวันที่ตรวจได้เลยหลังทำการตรวจเสร็จ
4. สำหรับการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องผ่านหลอดอาหาร ก่อนทำการตรวจแพทย์จะให้ผู้ป่วยอมยาชาและพ่นยาชาก่อนการตรวจ และให้นอนตะแคงซ้าย ก้มศรีษะลง และแพทย์จะใส่กล้องตรวจซึ่งเคลือบด้วยเจลหล่อลื่นผ่านปากเข้าไปในหลอดอาหารซึ่งอยู่ด้านหลังของหัวใจ และระหว่างการสอดกล้องแพทย์จะบอกให้ผู้ป่วยช่วยกลืนเพื่อทำให้ท่อเข้าไปง่าย หากช่วงที่ทำการตรวจมีน้ำลายไหลออกมา อย่ากลืน ปล่อยให้ไหลออกมา เจ้าหน้าที่จะใช้ผ้ารองกันเปื้อนให้ จนกว่าจะเสร็จสิ้นการตรวจ การตรวจใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
2.Exercise Stress Test(EST)
คือ การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายโดยการเดินสายพาน การตรวจวิธีนี้ใช้ประเมินความเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกาย และช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติ เช่น อาการหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งอาการต่างๆ นี้ จะบ่งชี้ว่ามีการขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจในระหว่างการออกกำลังกายได้
ขั้นตอนการตรวจ Exercise Stress Test(EST)
1. แพทย์และเจ้าหน้าที่ซักประวัติ โดยเฉพาะประวัติคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ
2. ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการติดแผ่นขั้วไฟฟ้า (Electrode) ที่หน้าอก เพื่อใช้ส่งสัญญาณการเต้นของหัวใจไปยังเครื่อง เพื่อให้แพทย์ดูในขณะที่ออกกำลังกาย
3. เมื่อเริ่มออกกำลัง ผู้เข้ารับการตรวจเดินบนสายพานออกกำลัง โดยสายพานจะเพิ่มความเร็วและความชันทุกๆ สามนาที เมื่ออัตราการเต้นของหัวใจถึงระดับที่ต้องการ หรือผู้เข้ารับบริการไม่สามารออกกำลังต่อได้แล้ว แพทย์จะหยุดสายพาน
4. หากมีอาการผิดปกติขณะตรวจ เช่น แน่นหน้าอก แสบร้อน คลื่นไส้ วิงเวียน ใจสั่น กรุณาแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทันที
5. หลังสายพานหยุด เจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลความดันโลหิตและชีพจรต่ออย่างน้อย 3 นาที หรือจนกว่าผู้รับบริการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ
1. งดน้ำงดอาหาร ก่อนการทดสอบ 2-4 ชั่วโมง ควรงดดื่มชา การแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. สามารถรับประทานยาตอนเช้าวันที่มาตรวจได้ตามปกติ ยกเว้นแพทย์สั่งให้งดยาบางตัว ให้งดตามคำสั่งแพทย์
3. สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย และรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย (ถ้านัดล่วงหน้า)
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน
1. หัวใจเต้นผิดจังหวะ
2. เป็นลมหมดสติ และอาจทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บได้
3. กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
3. Holter Monitoring
คือ การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว 24-48 ชั่วโมง เป็นการตรวจที่ใช้ในผู้ที่มาด้วยอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลมหรือวูบ มีหัวใจเต้นผิดปกติ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ โดยจะมีเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจเครื่องเล็กที่จะเชื่อมต่อกับสายที่ยึดติดกับแผ่นขั้วไฟฟ้า (Electrode) ที่ติดบริเวณผนังหน้าอก เครื่องจะต้องพกติดตัวตลอดเวลาขณะทำกิจกรรมต่างๆ
การเตรียมตัวสำหรับการตรวจ
- ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
- เจ้าหน้าที่ติดแผ่นขั้วไฟฟ้า (Electrode) บริเวณหน้าอก และติดสายและต่อเข้ากับเครื่อง Holter Monitor ผู้รับบริการสามารถใส่เครื่องไว้ในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง หรือแขวนไว้ที่คอและไหล่ได้
การปฎิบัติตัวขณะที่ติดเครื่อง
- ห้ามอาบน้ำหรือว่ายน้ำ
- ห้ามแกะออก
- ห้ามทำการตรวจ MRI
-หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีสายไฟแรงสูง หรือบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือบริเวณที่มีเครื่องตรวจจับโลหะ
เมื่อครบเวลาตรวจ ผู้รับบริการนำเครื่องมาส่ง เจ้าหน้าที่จะอ่านผลและส่งให้แพทย์แจ้งผลการตรวจ
4. Ambulatory Blood Pressure Monitoring (ABPM)
คือ การวัดความดันโลหิตที่มีเครื่องวัดความดันติดตัวผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะวัดทุก 30 นาที - 1 ชั่วโมง ทั้งเวลานอนและเวลาตื่น ซึ่งค่าความดันที่ได้จะเก็บไว้ในหน่วยความจำ และนำมาแสกน เมื่อครบ 24 ชั่วโมง
ข้อบ่งชี้ สำหรับ Ambulatory Blood Pressure Monitoring (ABPM)
- การวัดความดันแต่ละครั้ง มีความแตกต่างกันมาก
- ผู้ป่วยที่วัดความดันโลหิตได้สูง โดยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ความดันโลหิตที่บ้านกับที่วัดที่โรงพยาบาล มีความแตกต่างกัน
- ผู้ป่วยที่รับยาลดความดันแล้ว แต่ความดันโลหิตไม่ลดลง
- ผู้ที่เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหลังจากได้รับยา ได้แก่ ผู้สุงอายุ , ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูงในผู้ที่ตั้งครรภ์
ขั้นตอนการตรวจ
- เจ้าหน้าที่จะใส่เครื่องวัดความดันให้ โดยส่วนใหญ่จะใส่ในแขนข้างที่ไม่ถนัด
- การตั้งเวลาการวัด จะต้องตามคำสั่งแพทย์ ว่าจะให้วัดทุกระยะเวลาที่เท่าไหร่
- ผู้ป่วยอาจจะต้องงดการอาบน้ำ 1 วัน
เมื่อครบเวลาผู้ป่วยนำเครื่องมาคืน เพื่อประมวลผลและสแกน ให้แพทย์แจ้งผลการตรวจ
5. Event Recorder
คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา ในขณะที่มีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น หน้ามืด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ นานๆ เป็นครั้งหนึ่งและอาจเกิดในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเมื่อมาที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจไม่พบอาการดังกล่าว แพทย์จะให้ผู้ป่วยนำเครื่องบันทึกกลับบ้าน อาจจะ 1-2 อาทิตย์ เมื่อผู้ป่วยมีอาการจะให้นำเครื่องบันทึกมาแนบบริเวณหน้าอกใต้ราวนมด้านซ้าย เพื่อทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ณ ขณะเวลานั้นได้ทันที และเมื่อครบเวลาให้นำมาส่ง สรุปผลและพบแพทย์
6. Cardio Ankle Vascular Index (CAVI)
คือ การตรวจวัดความแข็งของหลอดเลือดแดง เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การตรวจใช้เวลาประมาน 10-15 นาที โดยในขณะตรวจ เจ้าหน้าที่สวมที่วัดความดันที่แขน-ขาทั้งสองข้าง และผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับร่างกาย จนกว่าจะเสร็จสิ้นการตรวจ สำหรับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat
หรือ เพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด
Facebook : SriphatMedicalCenter