ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การขยายม่านตา



อ.พญ.ปรียานุช คุณทรงเกียรติ

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-244-R-00

 อนุมัติวันที่ 22 ตุลาคม 2563



เมื่อไปตรวจตา แล้วแพทย์แจ้งว่า "ตรวจละเอียด ต้องขยายม่านตา" หลายคนอาจจะสงสัยว่า ขยายม่านตาเป็นอย่างไร และทำไมต้องขยาย

 


การขยายม่านตาคืออะไร


        ลูกตาของคนเรามีลักษณะเป็นทรงกลม โครงสร้างที่มองเห็นจากด้านหน้าตา คือ ตาดำและตาขาว ส่วนของตาที่เราเห็นเป็นสีดำในคนเอเชีย และสีฟ้าในชาวตะวันตก คือ ม่านตา ตรงกลางของม่านตาเป็นรูเล็กๆ เรียกว่า รูม่านตา มีขนาด 2-4 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ปรับแสงที่เข้าสู่ดวงตาให้พอเหมาะตามสภาพแวดล้อม เช่น เมื่ออยู่ในที่ๆ มีแสงจ้า ม่านตาจะหดเล็กลงเพื่อลดแสง และเมื่ออยู่ในที่มืด ม่านตาจะขยายใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มแสงที่เข้าสู่ดวงตา ส่วนโครงสร้างที่อยู่ถัดจากม่านตาเข้าไปด้านใน ได้แก่ เลนส์ตา วุ้นตา จอตาและขั้วประสาทตา  ในการตรวจตาหากไม่ได้ทำการขยายม่านตา แพทย์จะสามารถมองเห็นอวัยวะที่อยู่หลังม่านตาเหล่านี้ได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น เนื่องจากต้องตรวจผ่านรูม่านตาที่มีขนาดเล็ก การขยายม่านตาจะทำให้รูม่านตาเปิดกว้างได้ถึงประมาณ 8 มิลลิเมตร ทำให้แพทย์สามารถทำการตรวจอวัยวะภายในลูกตา เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ละเอียดเพิ่มมากขึ้น

 


การขยายม่านตาทำอย่างไร


        การขยายม่านตาทำได้โดยการหยอดยา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลังหยอดจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ม่านตาจึงจะขยายเต็มที่


 

ข้อควรระวังในการขยายม่านตา


- เมื่อม่านตาขยายจะทำให้เกิดอาการตาพร่า แพ้แสง ตามัวลง เป็นเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้น หากแพทย์นัดตรวจขยายม่านตา ควรมีผู้มารับส่งและคอยดูแลช่วยเหลือ นอกจากนี้ควรเตรียมแว่นตากันแดดมาด้วย เพื่อลดอาการแพ้แสงเมื่อออกกลางแจ้ง


- ผู้ที่มีช่องหน้าลูกตาแคบ การที่ม่านตาขยายอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลันได้ หากตรวจแล้วพบว่ามีช่องหน้าลูกตาแคบมาก จักษุแพทย์อาจพิจารณาทำการเลเซอร์เจาะรูม่านตาก่อนทำการขยายม่านตา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว