ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

คลินิกเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ



ผศ.พญ.ณัฐนิตา  มัทวานนท์
สูตินรีแพทย์
รหัสเอกสาร PI-IMC-024-R-01
อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566



คลินิกเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ


คำจำกัดความของเพศในยุคก่อนอาจจะมีเพียงแค่ชายและหญิง แต่ในปัจจุบันความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับและเข้าใจมากขึ้น ในทางการแพทย์ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรคและไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ หากแต่การเลือกปฏิบัติของสังคมต่อกลุ่มคนเหล่านี้ต่างหากที่ก่อให้เกิดบาดแผลในใจระยะยาว


อะไรคือความหลากหลายทางเพศ 

1.อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity)
    คือ เพศที่มีความรู้สึกว่าตนเองเป็น เช่น หญิงข้ามเพศ คือผู้ที่เพศกำเนิดเป็นชาย แต่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นหญิง เป็นต้น

2.รสนิยมทางเพศ (Sexual orientation)
    คือ การมีความรู้สึกว่าถูกดึงดูด หรือมีความรู้สึกทางเพศกับเพศไหน เช่น ถูกดึงดูดด้วยเพศชาย หรือเพศหญิง ไม่ชอบเพศไหนเลย หรือชอบหลายแบบก็ได้ 

อัตลักษณ์และรสนิยมไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน อาทิเช่น หญิงข้ามเพศซึ่งรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้หญิงอาจจะชอบผู้หญิงก็ได้  ไม่จำเป็นต้องชอบผู้ชาย เป็นต้น ซึ่งความชอบนี้ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ หรือที่เรียกว่าภาวะเพศเลื่อนไหล (gender fluidity) จะเห็นว่าเพศไม่ได้มีแค่สองเพศเหมือนขาวกับดำ  หากแต่เป็นเฉดสีเทาๆ ที่ยากจะระบุชี้ชัดลงไปได้  


สาเหตุของความหลากหลายทางเพศ และแนวทางการรักษา 

ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันเช่น พันธุกรรม ฮอรโมนและสารเคมีในสมอง การเลี้ยงดู และสังคมรอบข้าง ถึงแม้ความหลากหลายทางเพศไม่ได้นับเป็นโรคหรือความผิดปกติ แต่ครอบครัวและสังคมรอบข้างที่ไม่เข้าใจอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ นอกจากนี้บางคนอาจมีความทุกข์จากเพศสภาพภายนอกที่ไม่ตรงกับความรู้สึกภายใน เรื่องเหล่านี้สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชียว เช่น หากมีความกังวลใจหรือรู้สึกซึมเศร้าก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาวิธีปรับใจให้มีความสุข ในกลุ่มที่ต้องการเปลียนแปลงเพศ  ก็ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาทีมแพทย์ผู้เชียวชาญเช่น แพทย์ต่อมไร้ท่อหรือสูตินรีแพทย์ เพื่อใช้ยาฮอร์โมนให้ได้ผลดีอย่างปลอดภัย และหากต้องการทำการผ่าตัดก็ควรเลือกแพทย์ศัลยกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในสถานที่ที่ปลอดภัย  นอกจากนี้คนไข้ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนและตรวจคัดกรองโรคต่างๆอย่างเหมาะสม เช่นการตรวจภายใน หลังทำช่องคลอดใหม่ การตรวจมะเร็งเต้านมหลังจากผ่าตัดเต้านมออกไปแล้วเป็นต้น 



การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนลักษณะภายนอก และการตรวจร่างกายหลังใช้ยา

1. ชายเป็นหญิง

- ใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย ร่วมกับเสริมฮอร์โมนเพศหญิง โดยยาฮอร์โมนที่ใช้ควรเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงตามธรรมชาติ
 
- ควรเริ่มที่ยาขนาดต่ำก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น 
 
- เจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนเป็นระยะ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดโดยมีผลข้างเคียงต่ำที่สุด และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา

- โดยทั่วไปผลของฮอร์โมนจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเต็มที่ ที่ประมาณ 2-3 ปี

- ในรายที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จะต้องใช้ฮอร์โมนเพศหญิงระยะยาว เพื่อป้องกันความเสื่อมของร่างกาย เช่น ภาวะกระดูกพรุน 

- หากมีความผิดปกติของช่องคลอดใหม่ ควรได้รับการตรวจภายในเพื่อวินิจฉัยและรักษา
 
2. หญิงเป็นชาย 

- ใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันใช้ในรูปแบบยาฉีด หรือยาทา
 
- ควรเริ่มที่ยาขนาดต่ำก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น  เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการโดยมีผลข้างเคียงต่ำที่สุด

- เจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมน และภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาเป็นระยะ

- โดยทั่วไปผลของฮอร์โมนจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเต็มที่ ที่ประมาณ 2-5ปี

- หากยังมีมดลูกและรังไข่ ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกตามมาตรฐาน (ทุก 1 ปี) และต้องคุมกำเนิดในกรณีที่มีคู่ที่สามารถผลิตอสุจิได้ เนื่องจากยาฮอร์โมนเพศชายไม่สามารถใช้คุมกำเนิดได้ 


เพราะความแตกต่างและความหลากหลาย ไม่ควรเป็นอุปสรรค์ต่อการมีสุขภาพที่ดี ทางศูนย์ศรีพัฒน์มีบริการ ปรึกษาเรื่องการใช้ยาฮอร์โมน, เจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมน, ตรวจภายใน ในกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดย ผศ.พญ.ณัฐนิตา  มัทวานนท์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกสูตินรีเวช หมายเลข 053-936830

------------------------------------------------------------

สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด