อ.นพ.หาญชัย ขลิบเงิน และ อ.พญ.อนุธิดา เชาว์วิศิษฐ์เสรี
รหัสเอกสาร PI-IMC-063-R-00
อนุมัติวันที่ 23 พฤษภาคม 2563
การตรวจสุขภาพคืออะไร และตรวจสุขภาพเพื่ออะไร
การตรวจสุขภาพ คือ การค้นหาความผิดปกติ (โรค) ในระยะเริ่มแรกให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะรับมือกับความผิดปกตินั้น ตั้งแต่เริ่มแรก
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการแสดงของการเจ็บป่วยนั้น (กลุ่มที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือได้รับการรักษามาก่อน) การตรวจสุขภาพจะนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่ละเอียดได้เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การควบคุมความรุนแรงของโรค หรือการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทำให้ง่ายต่อการจัดการดูแลโรคในระยะยาว
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงอยู่เดิม มีโรคที่ได้รับการรักษา/ควบคุมโรคอยู่ หรือได้รับการรักษาเสร็จสิ้นไปแล้ว การตรวจสุขภาพจะเป็นไปเพื่อการตรวจติดตามเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน หรือการเป็นซ้ำ และยังได้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมได้ยิ่งขึ้น
ตรวจสุขภาพทำอะไรบ้าง
- เริ่มต้นจะมีส่วนของการซักประวัติเกี่ยวกับความเสี่ยงและสอบถามอาการทั่วๆ ไป
- การประเมินสภาพร่างกาย และตรวจสัญญาณชีพเบื้องต้น ได้แก่ ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจน้ำหนักตัว ส่วนสูง ดัชนีมวลกาย ความยาวรอบเอว เป็นต้น
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ตรวจดูระดับนํ้าตาล ตรวจระดับไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือด ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง เซ่น ตรวจเนื้อเยื่อจากปากมดลูกเพื่อหาภาวะเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ตรวจเลือดในอุจจาระเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ ตรวจ Mammography เป็นต้น
- ในส่วนของศูนย์ศรีพัฒน์ฯ นั้นจะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวประจำคลินิกตรวจสุขภาพ เพื่อดูแลตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการตรวจพบความผิดปกติและให้คำแนะนำในการดูแลส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ตลอดจนถึงการติดตามผลการรักษาและพิจารณาส่งต่อถึงแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต่างๆ ให้ร่วมดูแลรักษาได้อย่างครบถ้วนและเหมาะสม
การตรวจสุขภาพที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
โดยทั่วไปแล้วการจัดการตรวจสุขภาพนั้นจะจัดตามข้อมูลพื้นฐานทางสถิติของความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติการณ์โรคที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในแต่ละกลุ่มวัยเป็นหลัก ดังนั้น เราสามารถตรวจสุขภาพได้ในทุกช่วงอายุ
- ในกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการตรวจคัดกรองด้านพัฒนาการ ความสมบูรณ์ของสภาพร่างกาย การค้นหาพฤติกรรมเสี่ยงตามวัย (ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน ฯลฯ) ประวัติวัคซีนที่เหมาะสมที่ควรได้รับตามวัย และมีการส่งเสริมสุขภาพด้านอื่นที่เหมาะสม (แนะนำปรึกษากุมารแพทย์)
- ในกลุ่มวัยทำงาน แล้วแต่การแบ่งช่วงอายุ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยตั้งแต่ 18-60 ปี การคัดกรองโรคจะเริ่มเน้นการตรวจคัดกรองกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงกลุ่มโรคมะเร็งบางประเภท (กรณีวัยทำงานตอนปลาย) เป็นต้น
- ในกลุ่มวัยสูงอายุ อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60-65 ปี ขึ้นไป โดยส่วนใหญ่การคัดกรองจะเน้นไปในการตรวจกลุ่มโรคเรื้อรัง โรคมะเร็งบางประเภท เช่นเดียวกับวัยทำงาน โดยอาจมีการประเมินในรายละเอียดบางโรคเพิ่มเติม เช่น ประเมินภาวะโภชนาการ ภาวะกระดูกพรุน ภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
ถ้าผลตรวจสุขภาพไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผลนี้จะอยู่ได้นานกี่ปี
ผลการตรวจสุขภาพที่ได้นั้น คือ เป็นผลที่บ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพ ณ ปัจจุบัน ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ทั้งนี้การดำเนินชีวิตและวัยที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เราได้เจอในชีวิตประจำวันสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น หากมีพฤติกรรมที่ขาดความระมัดระวัง ทำให้การมาตรวจสุขภาพในครั้งต่อ ๆ ไป อาจพบความผิดปกติขึ้นได้เช่นกัน โดยมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยเสี่ยง /สิ่งกระตุ้นที่ได้รับนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น การตรวจสุขภาพในรอบนี้ พบว่าระดับไขมัน,น้ำตาลในเลือด,ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติดี หากชะล่าใจไม่ดูแลตัวเอง ขาดความระมัดระวังในการทานอาหาร ขาดการออกกำลังกาย มีการดื่มสุราเป็นประจำ การตรวจสุขภาพครั้งต่อไปอาจพบว่าเริ่มมีน้ำหนักเกิน เริ่มพบโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น เริ่มมีความดันโลหิตสูงขึ้น ระดับน้ำตาลและไขมันเกินเกณฑ์ได้ รวมถึงการดื่มสุรา ทำให้ค่าการทำงานของตับแปรปรวน เป็นต้น
รวมถึงโรคบางโรคไม่อาจตรวจคัดกรองได้ด้วยวิธีทั่วไป หรือบางโรคอาจมีการดำเนินโรคที่ไวมาก ทำให้มีการจู่โจม แสดงอาการอย่างฉับพลันได้เช่นกัน ดังนั้น หากผลการตรวจสุขภาพไม่พบความผิดปกติ ก็แสดงว่าที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตได้เหมาะสม ยังไม่พบโรคที่น่ากังวล ณ ขณะนี้นั่นเอง แต่ก็อย่าชะล่าใจ ไม่ดูแลสุขภาพตนเอง ควรสังเกตอาการหากมีอาการผิดปกติ ก็ควรมาปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนการตรวจสุขภาพ และข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อแพทย์มีอะไรบ้าง
บทความนี้จะได้แนะนำการเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อให้ท่านได้รับประโยชน์สูงสุดในการตรวจสุขภาพ
- แนะนำงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
- ข้อมูลที่สำคัญ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตที่สำคัญ,ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว (โรคทางพันธุกรรม), ประวัติการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วผิดปกติ,การขับถ่ายที่ผิดปกติไป เช่น ท้องผูกสลับท้องเสียเรื้อรัง อาการผิดปกติเรื้อรัง เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ปวดศีรษะรุนแรง, ประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน (ทั้งที่ได้รับจากโรงพยาบาล , ยาที่ซื้อมาเอง) รวมถึงประวัติการแพ้ยาแพ้อาหาร
รวมไปถึงข้อมูลหรือเอกสาร กรณีเคยมีประวัติรับการตรวจหรือการรักษาในสถานพยาบาลอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมในการแปลผลและการวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสม
- อดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่าอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ เช่น หากวางแผนว่าจะมาโรงพยาบาลและได้เจาะเลือดประมาณ 08.00 น. ให้อดอาหารตั้งแต่เวลา 20.00-22.00 น. เป็นต้นไป (หากไม่ได้ทำการอดอาหารมาจะมีผลต่อการแปลผลค่าระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด รวมถึงการวินิจฉัยได้ นอกจากนี้กรณีที่ต้องการตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง จะมีผลให้มีลมในช่องท้องมากจนบดบังการตรวจอวัยวะบางส่วนและทำให้ไม่สามารถมองเห็นถุงน้ำดี)
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดบริเวณข้อพับแขน และควรถอด/ใส่ได้ง่าย เนื่องจากการตรวจบางอย่างจำเป็นต้องถอดเสื้อและเปลี่ยนเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลกำหนดให้ เช่น การตรวจเอกซเรย์ปอดหรือแมมโมแกรมในสุภาพสตรี
- ควรถึงโรงพยาบาลในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียจนเกินไปจากการอดอาหาร หลังจากการเจาะเลือดและอัลตราซาวน์ช่องท้องแล้ว สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้
- ก่อนทำการวัดความดันโลหิต งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 30 นาที และขณะวัดให้ปล่อยมือตามสบาย ไม่กำมือและไม่พูดขณะเครื่องวัดทำงาน เพราะจะส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้
- การเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจ แนะนำล้างบริเวณอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะด้วยน้ำสะอาด แล้วเช็ดด้วยกระดาษชำระให้แห้งก่อนจึงทำการเก็บปัสสาวะ โดยควรเก็บในช่วงกลางของการปัสสาวะ (ด้วยการปัสสาวะส่วนต้นทิ้งออกไปเล็กน้อย เพื่อลดการปนเปื้อนของเซลล์ต่างๆ ที่อยู่บริเวณภายนอก เพราะมีส่วนกวนการแปลผลปัสสาวะได้) ควรเก็บปริมาณปัสสาวะให้ได้ประมาณครึ่งภาชนะ แล้วปล่อยปัสสาวะในช่วงท้ายทิ้งออกไป
- การเก็บอุจจาระ แนะนำปัสสาวะทิ้งก่อนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของปัสสาวะที่อาจรบกวนต่อผลตรวจอุจจาระได้ หากนำภาชนะและอุปกรณ์ไปเก็บที่บ้าน ให้นำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 4 ชั่วโมง
การเตรียมตัวเพิ่มเติมก่อนการตรวจสุขภาพสำหรับสุภาพสตรี
เนื่องจากเพศหญิงมีลักษณะการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมโดยเฉพาะ เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม การทราบการเตรียมตัวและข้อควรรู้เพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์สำหรับท่านมีดังต่อไปนี้
- การตรวจภายในของสตรีนั้น โดยทั่วไปจะทำควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับสตรีที่จะเข้ารับการตรวจ ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน แต่ในกรณีมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดให้แจ้งเจ้าหน้าที่และแพทย์ เนื่องจากกรณีนี้การตรวจภายในจะเป็นประโยชน์ในการหาสาเหตุของอาการผิดปกติได้ นอกจากนี้ควรงดมีเพศสัมพันธ์ 48 ชั่วโมงก่อนการตรวจ และไม่สวนล้างช่องคลอดเพราะเซลล์บริเวณปาดมดลูกที่ต้องการตรวจจะถูกชะล้างออกไป
- หลังจากตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้ว ท่านจะทราบผลของการตรวจภายในเลยว่าอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ มีความผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติจะได้รับการดูแลรักษาต่อกับสูตินรีแพทย์ สำหรับผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่ต้องใช้เวลาในการอ่านผลจะถูกจัดส่งไปตามที่อยู่หลังเข้ารับการตรวจภายใน 1 เดือน
- สำหรับสตรีที่ต้องการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมเพื่อหาความผิดปกติของเต้านมและคัดกรองมะเร็งเต้านม ควรทำการตรวจในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน เพราะช่วงมีประจำเดือนจะมีความคัดตึงของเต้านม นอกจากนี้ไม่ควรทาแป้ง โลชั่นหรือสเปรย์ระงับกลิ่นใดๆ ที่บริเวณเต้านมและรักแร้
- หากมีประจำเดือน ให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลการตรวจ
- หากท่านตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ามีภาวะการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนขาด โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ เพราะหากมีการตั้งครรภ์ จำเป็นต้องงดการตรวจบางชนิด เช่น เอกซเรย์ปอด แมมโมแกรม การตรวจมวลกระดูก
เพื่อให้ท่านเข้ารับการตรวจสุภาพได้อย่างสะดวกและทราบผลการตรวจที่น่าเชื่อถือ ส่งผลให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมสักนิด อย่างไรก็ตามหากท่านต้องการนัดตรวจสุขภาพล่วงหน้าหรือมีข้อสงสัยเรื่องการตรวจสุขภาพ
สามารถติดต่อคลินิกตรวจสุขภาพ ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา โทร 0-5393-6700, 0-5393-4552 หรือ Call center 0-5393-6900-1
------------------------------------------------------------
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด