ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การผ่าตัดรีแพร์หรือซ่อมเสริมผนังช่องคลอดด้านหลังและฝีเย็บ ใครว่าไม่สำคัญ ?


ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร

หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-108-R-00

อนุมัติวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559


การผ่าตัดรีแพร์หรือซ่อมเสริมผนังช่องคลอดด้านหลังและฝีเย็บ ใครว่าไม่สำคัญ ?


        1.  การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลังคืออะไร ?


        2.  การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังคืออะไร ?


        3.  เพราะเหตุใดจึงควรทำการผ่าตัดนี้ ?


        4.  การผ่าตัดนี้ทำอย่างไร ?


        5.  ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?


        6.  หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?


        7.  การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร ?


        8.  มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ?


        9.  เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ ?



การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลัง


      ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีที่เคยคลอดบุตรต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขช่องคลอดหย่อน การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลังมักเกิดจากการอ่อนแอของชั้นเนื้อเยื่อ (พังผืด) ที่พยุงและแยกช่องคลอดจากลำไส้ส่วนล่างที่เรียกว่าไส้ตรง การอ่อนแอนี้อาจเป็นสาเหตุของการถ่ายอุจจาระลำบาก การรู้สึกว่าถ่วงหรือหน่วงลงช่องคลอดหรือการมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาและก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายบริเวณดังกล่าว ความผิดปกติของผนังช่องคลอดด้านหลังนี้อาจเรียกชื่อตามอวัยวะส่วนที่หย่อนลงมา ได้แก่ ไส้ตรงเลื่อน (Rectocele) และ ไส้เลื่อน (Enterocele)



การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังคืออะไร ?



      การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลัง หรือ Posterior colporrhaphy คือ หัตถการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเสริมความแข็งแรงของชั้นเนื้อเยื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างช่องคลอดและไส้ตรง เพื่อทำหน้าที่พยุงช่องคลอดไว้ ส่วนการรีแพร์ฝีเย็บ (Perineorrhaphy) คือ คำที่ใช้เรียกการผ่าตัดเพื่อซ่อมเสริมบริเวณฝีเย็บ



เพราะเหตุใดจึงควรทำการผ่าตัดนี้ ?



     เป้าหมายของการผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลัง คือ เพื่อแก้ไขอาการที่มีก้อนยื่นลงมาในช่องคลอด และ/หรือช่องคลอดไม่กระชับ และเพื่อทำ ให้การทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะการขับถ่ายเป็นปกติ และไม่รบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์



การผ่าตัดนี้ทำอย่างไร ?



     การผ่าตัดนี้สามารถทำได้ภายใต้การให้ยาสลบทั่วไป การให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน หรือการให้ยาชาเฉพาะที่ แพทย์ผู้ดูแลคุณจะอภิปรายถึงวิธีที่เหมาะสมกับคุณ การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังมีหลากหลายวิธี ต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป


        -  กรีดแผลเปิดในแนวกึ่งกลางของผนังช่องคลอดด้านหลัง เริ่มจากปากช่องคลอดขึ้นไปจนเกือบถึงช่องคลอดส่วนยอด


        -  เลาะแยกผิวช่องคลอดออกจากชั้นเนื้อเยื่อ (พังผืด) ที่พยุงอยู่ทางด้านล่าง จากนั้นเย็บซ่อมชั้นเนื้อเยื่อส่วนที่อ่อนแอนี้ด้วยวัสดุเย็บที่ละลายได้ ซึ่งจะถูกดูดซึมหายไปภายในเวลา 4 สัปดาห์ - 5 เดือน ขึ้นกับชนิดของวัสดุเย็บที่ใช้


        -  อาจซ่อมแซมฝีเย็บโดยการเย็บกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกใต้ฝีเย็บเข้าหากันเพื่อสร้างบริเวณฝีเย็บขึ้นใหม่


        -  เย็บปิดผิวช่องคลอดด้วยวัสดุเย็บที่ละลายได้ ซึ่งจะถูกดูดซึมหายไปภายในเวลา 4-6 สัปดาห์ โดยไม่ต้องตัดไหมออก


        -  ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้วัสดุเสริมความแข็งแรงในบริเวณที่ผ่าตัดซ่อมเสริม ได้แก่ แผ่นตาข่ายทำจากใยสังเคราะห์ถาวร (ไม่ถูกดูดซึม) หรือชีวภาพ (ถูกดูดซึมได้) ตาข่ายดังกล่าวนี้มักใช้ในรายที่เคยผ่าตัดมาก่อนหรือมีการยื่นย้อยลงมาอย่างมาก


        -  หลังผ่าตัดเสร็จ อาจมีการใส่ผ้ากอซในช่องคลอดเพื่อกดห้ามเลือดและลดรอยฟกช้ำหลังผ่าตัด ร่วมกับใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ ซึ่งทั้งหมดจะถูกถอดออกภายใน 3 - 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด


        -  อาจมีการผ่าตัดอื่นที่ทำร่วมกับการผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังอยู่บ่อยๆ เช่น การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหน้า หรือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ด



รูป ก. การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลัง


รูป ข. การเย็บซ่อมแซมชั้นเนื้อเยื่อพังผืด


รูป ค. การเย็บซ่อมแซมผิวช่องคลอด



ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?


      คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งการสืบค้นต่างๆ ที่จะจำเป็น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด



หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง ?



      เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและสายสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด


      ในช่วง 4 - 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองคล้ายครีมได้เป็นปกติ เกิดขึ้นได้เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆ และหายไปในที่สุด เมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป หากตกขาวของคุณมีกลิ่นเหม็นผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ นอกจากนี้ คุณอาจมีตกขาวปนเลือดเล็กน้อยหลังผ่าตัดทันที หรือเริ่มเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์  เลือดที่เห็นมักมีลักษณะจางๆ และมีสีน้ำตาลแบบเลือดเก่าๆ ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวของลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ใต้ผิวช่องคลอดไหลปนตกขาวออกมาซึ่งจะหยุดได้เอง



 การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร ?



     กล่าวโดยทั่วไป ผลการผ่าตัดมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต หรือมีช่องคลอดด้านอื่นยื่นย้อยเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอีกต่อไป


      อย่างไรก็ดี ประมาณร้อยละ 50 ของสตรีที่มีอาการ เช่น ขับถ่ายอุจจาระไม่หมดหรือท้องผูกจะมีอาการดังกล่าวดีขึ้นภายหลังการผ่าตัด


มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ?



      การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆ ก็ตาม


        -  ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต


        -  เลือดออก ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบไม่บ่อย เกิดขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทางช่องคลอด


        -  การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัด และพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง


        -  การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดและพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ อาการที่พบ ได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อยและบางครั้งน้ำปัสสาวะมีเลือดปนได้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ



ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับการผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลัง



        -  ท้องผูก เป็นปัญหาที่พบบ่อยหลังผ่าตัด และแพทย์อาจสั่งยาระบายเพื่อรักษา พยายามรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและดื่มน้ำปริมาณมากจะช่วยให้อาการดีขึ้น


        -  สตรีบางรายอาจมีอาการเจ็บปวดหรือรู้สึกไม่สบายในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัด แม้ว่าจะได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นทุกวิถีทางแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี สตรีบางรายพบว่าการร่วมเพศนั้นสะดวกสบายมากขึ้นหลังผ่าตัด


        -  การบาดเจ็บต่อไส้ตรงขณะผ่าตัด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยอย่างยิ่ง



เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ ?


     ในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ คุณควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้มีแรงกดดันไปยังบริเวณที่ผ่าตัดซ่อมแซม เช่น การยกของหนัก การออกแรงเบ่งมาก การออกกำลังกายหนัก การไอ ท้องผูก แผลผ่าตัดจะหายดีและมีความแข็งแรงสูงสุดต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงดังกล่าวนี้จึงไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัมหรือ 25 ปอนด์


      โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 2-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ


      หลังผ่าตัด 3-4 สัปดาห์ คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี


      คุณควรรอเป็นเวลา 5-6 สัปดาห์ ก่อนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางคนอาจจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ สารหล่อลื่นนี้สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาหรือซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป

 


เอกสารอ้างอิง
International Urogynecological Association (IUGA). Posterior Vaginal Wall & Perineal Body Repair: A Guide for Women. 2011.


ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562


ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat