ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ความรู้เรื่องโรคตาแดง



อ.นพ.ทัศนัย  วนรัตน์วิจิตร


กุมารแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-055-R-00

อนุมัติวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562



        โรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาจากการติดเชื้อไวรัส เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัส ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง ไม่ติดต่อทางการสบสายตา , ทางอากาศ หรือทางรับประทานอาหารร่วมกัน อาการเกิดได้ภายใน 1-2 วัน ระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน สามารถติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พบได้บ่อยในเด็กเล็กและนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วย อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ตาพิการได้


การติดต่อ


จะติดต่อกันง่ายมาก โดย


1. การคลุกคลีใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคตาแดง


2. ใช้เสื้อผ้าหรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย


3. ปล่อยให้ฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา


4. ปล่อยให้แมลงวี่หรือแมลงวันตอมตา


5. ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือและใบหน้า



อาการ

     ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีอาการตาแดง เคืองตา ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อ ๆ น้ำตาไหล เจ็บตา มักจะมีขี้ตามากร่วมด้วย จากการติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ต่อมน้ำเหลืองหลังหูมักเจ็บและบวม มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจะติดต่อมายังตาอีกข้างได้ ถ้าไม่ระวังให้ดี ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำจากตาข้างที่ติดเชื้อไว้รัส มาถูกตาข้างที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ไม่เป็นตาแดง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นไปอีกข้างอย่างรวดเร็ว


ฤดูกาล

     มักพบผู้ติดเชื้อไวรัสตาแดงในฤดูฝน ระยะเวลาของโรคจะเป็นประมาณ 5-14 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น


โรคแทรกซ้อน

     มีอาการเคืองตามาก ลืมตาไม่ค่อยได้ มักมีอาการกระจกตาอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งจะดีขึ้นได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หรือบางรายเป็น 1-2 เดือน ทำให้ตามัวพร่าอยู่เป็นเวลานาน


การรักษา

     รักษาตามลักษณะอาการของโรค เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง ถ้ามีขี้ตามากก็หยอดยาปฏิชีวนะ มีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับยาลดไข้ ยาลดปวด พยายามรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้มาก ๆ โดยเฉพาะการใช้สายตาในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง ไม่ควรทำงานดึก ควรนอนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นมีกระจกตาอักเสบ เคืองตามาก จึงปิดตาเป็นครั้งคราว ไม่ควรให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย ควรงดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ทุกครั้งที่จับตาควรล้างมือให้สะอาด ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ จะแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปในน้ำได้


การป้องกัน


1. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ


2. ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย


3. ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที


4. อย่าปล่อยให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา


5. หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ


** ผู้ป่วยโรคตาแดงควรหยุดเรียนหรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคตาแดงลุกลาม หรือติดต่อ


ข้อมูลอ้างอิงจาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 



ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat