ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด (Amniotic fluid embolism syndrome)


ผศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รหัสเอกสาร PI-IMC-031-R-00
อนุมัติวันที่ 15 มิถุนายน 2561


ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด (Amniotic fluid embolism syndrome)


        เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก ประมาณ 1-12 ราย ต่อ 100,000 การคลอด อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ที่แท้จริงนั้นยากที่จะเก็บข้อมูล เนื่องจากเกณฑ์ในการวินิจฉัยที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา



ภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 


        กลไกการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน้ำคร่ำของทารกในครรภ์แทรกซึมผ่านหลอดเลือดของมดลูก และเข้าสู่กระแสเลือดของสตรีตั้งครรภ์ จากนั้นไปกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบการหายใจและระบบประสาท ทำให้ความดันในปอดสูงขึ้น (Pulmonary hypertension) หัวใจห้องขวาและซ้ายล้มเหลว (Right ventricular failure and left ventricular dysfunction) ระบบหายใจล้มเหลว และส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ขาดออกซิเจน (Hypoxemic respiratory failure) และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบขึ้นทั่วร่างกาย



รายใดบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค


จริงๆ แล้วทุกๆ การตั้งครรภ์และการคลอดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ แต่ความเสี่ยงจะมากขึ้นในรายที่


- ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ในที่นี้คืออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี


- เป็นการตั้งครรภ์หลังหรือผ่านการตั้งครรภ์และคลอดมามากกว่า 5 ครั้ง


- เป็นครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมาก


- รกมีความผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ รกฝังแน่น รกลอกก่อนกำหนด


- มีครรภ์เป็นพิษ


- ได้รับยา เพื่อชักนำการเจ็บครรภ์คลอด


- การดำเนินการคลอดเร็วกว่าปกติ


- คลอดโดยการผ่าตัด หรือใช้เครื่องมือช่วยคลอด


- มดลูกปริหรือแตก ปากมดลูกมีแผลฉีกขาด



จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นภาวะนี้


        เนื่องจากภาวะนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันที และเมื่อเป็นแล้วอาการของโรคจะดำเนินเร็วมาก การวินิจฉัยจึงอาศัยจากอาการและลักษณะทางคลินิกเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีอีกหลายโรคที่แสดงอาการออกมาในลักษณะเดียวกัน โดยทั่วไปมีอาการและอาการแสดง ดังนี้


1. เกิดขึ้นขณะเจ็บครรภ์คลอดหรือหลังคลอดทันที อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าสามารถเกิดในช่วง 48 ชั่วโมงหลังคลอด เกิดในรายที่แท้งบุตรไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองได้


2. ประมาณ 1 ใน 3 อาจจะมีอาการหนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระสับกระส่าย ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง นำมาก่อน


3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบการหายใจล้มเหลว คือ หายใจเหนื่อย หายใจเร็ว ออกซิเจนในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าหรือเร็ว บางรายเต้นผิดจังหวะและอาจหยุดเต้นได้ ร่วมกับน้ำท่วมปอด หรือมีเลือดออกในปอด


4. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดไหลไม่หยุด หรือตกเลือดได้


5. เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก เลือดออกในสมอง


6. หากทารกยังไม่คลอด เด็กจะขาดเลือดและออกซิเจน ทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ



การดูแลรักษา


หลักการ คือ การให้การประคับประคองและรักษาตามอาการ เช่น


1. ให้สารน้ำทางเส้นเลือดอย่างเพียงพอ


2. ให้ยาควบคุม หรือเพิ่มความดันโลหิตเมื่อจำเป็น


3. ให้ออกซิเจน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ


4. รายที่เลือดออกมาก จะได้รับเลือดและองค์ประกอบของเลือดทดแทน


5. ทำคลอดทารก หากทารกยังมีชีวิตและไม่คลอด อย่างไรก็ตามเป็นการตัดสินใจและเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะในขณะนั้นมารดาก็อาการแย่อยู่แล้ว การคลอดทารก อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับมารดา เช่น เสียเลือดมากขึ้น การควบคุมการทำงานของหัวใจและปอดทำได้ยากขึ้น แต่หากทิ้งไว้ไม่คลอดทารกก็อาจจะเสียชีวิตได้ จึงต้องพิจารณาและให้การรักษาเป็นรายๆ ไป



พยากรณ์โรค


        ถือว่าเป็นภาวะหรือโรคที่มีความรุนแรงมาก และจัดเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายของสตรีตั้งครรภ์ แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด เป็นสาเหตุการตายถึงร้อยละ 10

เมื่อเกิดภาวะนี้แล้ว ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งมารดาจะเสียชีวิต หากผ่านช่วงวิกฤติมาได้ ในระยะยาวจะมีปัญหาทางระบบประสาทจากการที่สมองขาดออกซิเจน

 

เอกสารอ้างอิง : http://www.uptodate.com

Access 4 June 2018


------------------------------------------------------------

สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด