อ.พญ.พิธพร วัฒนาวิทวัส
รหัสเอกสาร PI-IMC-020-R-00
อนุมัติวันที่ 22 มีนาคม 2561
โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) คืออะไร
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานาน จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
โรคเบาหวานเกิดจากอะไร
- ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ หรือสร้างได้น้อยลง
- อินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ หรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ทั้งสองสาเหตุนี้ทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน อาการที่สงสัยจะเป็นเบาหวาน
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
- คอแห้งกระหายน้ำ
- หิวบ่อย อ่อนเพลีย กินจุแต่น้ำหนักลด
- แผลเรื้อรัง หายยาก
- ชาตามปลายมือปลายเท้า
- ตามัว
- คันหรือมีผื่นเชื้อราตามผิวหนัง
เนื่องจากเบาหวานระยะแรกมักไม่มีอาการ หากไม่มีอาการข้างต้น แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรมาตรวจหาเบาหวานเป็นระยะ
- มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
- มีประวัติเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอดเกิน 4 กิโลกรัม
- มีโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
- มีโรคความดันโลหิตสูง
- มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
- มีโรคอ้วน (BMI ≥ 25 กก./ม.2)
- มีกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่
- อายุ 35 ปีขึ้นไป
- เคยได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน คือระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร อยู่ระหว่าง 100 – 126 มก./ดล.
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน หากปกติควรตรวจซ้ำทุกปี
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 126 มก./ดล.ขึ้นไป
- มีอาการเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อไม่ได้งดอาหาร ตั้งแต่ 200 มก./ดล.ขึ้นไป
- ระดับน้ำตาลหลังดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม ตั้งแต่ 200 มก./ดล.ขึ้นไป
- ระดับน้ำตาลสะสมตั้งแต่ 6.5 % ขึ้นไป
โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี จะเกิดภาวะแทรกซ้อนแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเป็นมากจนเกิดอาการมักจะยากที่จะรักษา ได้แก่
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ อันนำมาสู่อัมพฤกษ์ อัมพาต
- โรคไตวายเรื้อรัง อาจต้องฟอกไต หรือเปลี่ยนไต
- ปลายประสาทเสื่อม ทำให้ชาปลายมือปลายเท้า และอาจเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- เบาหวานขึ้นตา
- หลอดเลือดที่ขาและเท้าตีบ ทำให้เท้าเป็นแผลได้ง่าย และถ้าดูแลไม่ดีอาจถูกตัดขา
เมื่อเป็นโรคเบาหวานควรทำอย่างไร
หากเราควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติอย่างต่อเนื่อง จะสามารถป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ดังนั้น คนที่เป็นเบาหวานควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด
o กินอาหารให้ตรงเวลา ครบ 3 มื้อ และครบหมวดหมู่
o หลีกเลี่ยงขนม ของหวาน น้ำตาล น้ำหวาน น้ำผลไม้
o กินอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง โดยผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาเป็นเวลานาน ถ้าเริ่มออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรลดน้ำหนักลง
- รักษาด้วยยาเม็ดลดระดับน้ำตาล ยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลินหรือยาฉีดอินซูลิน โดยมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนการรักษาอย่างเหมาะสม
- เรียนรู้โรคเบาหวานและดูแลรักษาสุขภาพตนเอง
o ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ
o ดูแลเท้าเป็นประจำ ตรวจเท้าด้วยตัวเองทุกวัน และตรวจเท้าโดยแพทย์ปีละครั้ง ถ้ามีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
o ตรวจตาทุกปี
o ตรวจน้ำตาลในเลือด เพื่อประเมินผลการควบคุมเบาหวานด้วยตนเองที่บ้าน
o รักษาโรคอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat
หรือ เพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด