ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

เบาหวานขึ้นจอตา





อ.พญ.ปรียานุช คุณทรงเกียรติ

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-005-R-00

อนุมัติวันที่ 1 ธันวาคม 2560


        โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย  ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์ว่าผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 415 ล้านคนในปี ค.ศ.2015 เป็น 642 ล้านคนในปี ค.ศ.2040

โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง เมื่อระดับน้ำตาลสูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้หลอดเลือดเล็กๆ เสียหาย ผนังหลอดเลือดโป่งพอง เกิดการรั่วซึมและตีบตันได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะต่างๆ ตามมา เช่น หลอดเลือดอุดตันในสมอง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไตวาย เกิดแผลเรื้อรังที่เท้า และเบาหวานขึ้นจอตา เป็นต้น

เบาหวานขึ้นจอตาจัดเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของตาบอดในประชากรวัยทำงาน จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยเบาหวานที่มาตรวจตามีเบาหวานขึ้นจอตา และในจำนวนนี้หนึ่งในสามเป็นเบาหวานขึ้นจอตาที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น



                        ภาพตัดขวางลูกตาข้างขวา

                   แสดงให้เห็นจอตาซึ่งบุอยู่ที่ผนังด้านในลูกตา


โรคเบาหวานขึ้นจอตาคืออะไร?

เมื่อหลอดเลือดเล็กๆ ที่จอตาเกิดความผิดปกติจะส่งผลให้มีสารน้ำและไขมันรั่วซึมสู่เนื้อเยื่อของจอตาโดยรอบทำให้จอตาบวม หากสารน้ำหรือไขมันสะสมบริเวณจุดภาพชัดก็อาจทำให้ผู้ป่วยตามัวลงหรือมองเห็นภาพบิดเบี้ยวได้  ในระยะต่อมาหากหลอดเลือดเล็กๆ เหล่านี้เกิดการอุดตันทำให้จอตาขาดเลือด ร่างกายจะหลั่งสาร VEGF (vascular endothelial growth factor) ออกมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ แต่หลอดเลือดที่สร้างใหม่เหล่านี้เป็นหลอดเลือดฝอยที่ไม่แข็งแรง เปราะแตกง่าย ทำให้มีเลือดออกในจอตาและน้ำวุ้นตา เกิดการดึงรั้งที่จอตาทำให้จอตาหลุดลอก อาจเกิดต้อหินแทรกซ้อน และทำให้ตาบอดได้ในที่สุด





จะทราบได้อย่างไรว่ามีเบาหวานขึ้นจอตา? 

ผู้ป่วยอาจมีอาการตามัว เห็นจุดดำลอยไปมา เห็นภาพบิดเบี้ยว หรืออาจไม่มีการมองเห็นผิดปกติเลยก็ได้  ดังนั้นหากทราบว่าเป็นโรคเบาหวานแล้วควรรับการตรวจจอตาโดยทันทีแม้จะมีการมองเห็นปกติ หากไม่มีเบาหวานขึ้นจอตาอย่างน้อยควรตรวจตาปีละ 1 ครั้ง แต่หากมีเบาหวานขึ้นจอตาแล้วอาจต้องตรวจบ่อยขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของจักษุแพทย์

ในการตรวจจอตาผู้ป่วยจะได้รับการหยอดยาขยายม่านตาซึ่งจะทำให้ตามัวและแพ้แสงชั่วคราวประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นในวันที่ทำการตรวจไม่ควรเดินทางโดยลำพัง  ควรนำแว่นตากันแดดติดตัวมาด้วยเพื่อช่วยลดอาการตาพร่าแพ้แสงหลังการตรวจ



                                    การตรวจจอตาโดยจักษุแพทย์


หากมีเบาหวานขึ้นจอตาแล้วจะสามารถรักษาได้หรือไม่?

การรักษาโรคเบาหวานขึ้นจอตาขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น  จักษุแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ เช่น การยิงเลเซอร์ การฉีดยาต้านการสร้างสาร VEGF เข้าลูกตา หรือการผ่าตัดน้ำวุ้นตา เป็นต้น  โอกาสที่ผู้ป่วยจะมองเห็นดีขึ้นหลังการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค  ผู้ป่วยควรมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด  ดูแลรักษาสุขภาพ ควบคุมระดับน้ำตาลและโรคประจำตัวอื่นๆ ให้ดี  หมั่นสังเกตการมองเห็นของตนเอง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นควรมาพบแพทย์ก่อนนัดทันที


เบาหวานขึ้นจอตาป้องกันได้หรือไม่?

เบาหวานขึ้นจอตาสามารถป้องกันได้หากควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้อย่างคงที่ร่วมกับควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงให้อยู่ในระดับปกติ ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และงดสูบบุหรี่  หากสังเกตว่ามีการมองเห็นที่ผิดปกติควรมาพบแพทย์ทันที  สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้หญิง การตั้งครรภ์อาจทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานขึ้นจอตามากขึ้น ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์




1  ธันวาคม  2560

ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphatcenter





Facebook : SriphatMedicalCenter