ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดตา



รศ.พญ.ภารดี  คุณาวิศรุต

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-004-R-00

อนุมัติวันที่ 18 กรกฎาคม 2557


การปฏิบัติตัวขณะผ่าตัดตา

  1. นอนหงายราบ ห้ามพูดคุย นอกจากตอบคำถามของแพทย์
  2. วางแขนราบแนบลำตัว ห้ามยกมือขึ้นมาบริเวณใบหน้า
  3. กลอกตาตามทิศทางที่แพทย์สั่ง
  4. วางศีรษะตรง หรือหันไปในด้านที่แพทย์ต้องการ
  5. แพทย์อาจจะฉีดยาชารอบ ๆ ลูกตา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บครั้งแรก ต่อไปยาชาออกฤทธิ์จะไม่รู้สึกเจ็บอีก ในกรณีที่ขณะผ่าตัดถ้ารู้สึกเจ็บให้บอกแพทย์ที่ทำการผ่าตัด
  6. ผู้ป่วยจะถูกคลุมหน้าด้วยผ้าที่สะอาดปราศจากเชื้อ เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากปากและจมูกเข้ามาถูกแผลขณะผ่าตัด หากรู้สึกอึดอัด หรืออยากไอ/จาม ให้บอกแพทย์
  7. แพทย์จะทำการผ่าตัดประมาณ ½ - 1 ชั่วโมง เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะพาผู้ป่วยกลับมาที่พัก

 

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดตา

  1. หลังผ่าตัดวันแรก  แพทย์จะปิดตาไว้ 1 วัน ให้นอนพักมากๆ (สามารถนอนตะแคงไปข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัดได้) ลุกนั่งและเดินได้ตามปกติ
  2. นอนหงายหนุนหมอนได้ตามปกติ (บางรายแพทย์อาจให้นอนคว่ำหน้าตลอด  หรือยกศีรษะสูง) ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ ถ้ามีอาการเมื่อย ควรพลิกตะแคงไปด้านที่ไม่ได้ทำผ่าตัด
  3. ไม่ล้างหน้านานประมาณ 2 สัปดาห์  ให้เช็ดหน้า โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดหน้าเบา ๆ
  4. เวลาอาบน้ำ ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตา เพราะอาจเกิดตาอักเสบได้ และถ้าต้องการสระผมควรนอนสระ เพราะการก้มหน้าสระผมจะทำให้น้ำเข้าตา และอาจเกิดความดันในลูกตาสูงหลังผ่าตัดได้ (ยกเว้นในบางรายที่แพทย์สั่งให้คว่ำหน้า)
  5. ห้ามล้างตาโดยเด็ดขาด ถ้ามีขี้ตาให้ทำความสะอาดรอบๆ ตาข้างที่ผ่าตัด โดยใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกบีบให้หมาด เช็ดรอบๆ ตาอย่างเบามือ ระวังไม่ให้สำลีถูกตาดำ ถ้าตาสะอาดดีไม่มีขี้ตาไม่จำเป็นต้องเช็ดตา
  6. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเช็ดตา/หยอดตาหรือป้ายตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
  7. ใช้ฝาครอบตาที่เป็นพลาสติกแข็ง (โดยทำความสะอาดก่อน) ปิตตาไว้ในเวลานอน เพื่อป้องกันการขยี้ตาหรือโดนกระแทก ประมาณ 2 สัปดาห์หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  8. ตอนกลางวันควรสวมแว่นตากันแดด เมื่อรู้สึกมีแสงจ้า หรือมีฝุ่นละออง ลมพัดแรง หรือเมื่อออกนอกบ้าน
  9. ไม่ควรไอจามแรงๆ ระวังไม่ให้ท้องผูก ไม่ควรเบ่งถ่ายอุจจาระ
  10. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ นม ฯลฯ หลีกเลี่ยงอาหารแข็งๆ เหนียวๆ ที่ต้องออกแรงเคี้ยวมากๆ
  11. ไม่ควรปรุงอาหารที่มีควันมากๆ หรือทำความสะอาดบ้านที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  12. ออกกำลังกายเบาๆได้ เช่น การเดิน ฯลฯ ห้ามหิ้วหรือยกของหนัก หลีกเลี่ยงการทำสวน พรวนดิน งดออกกำลังกายที่ออกแรงมาก ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  13. ควรระมัดระวังอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การหกล้ม การเดินชนสิ่งกีดขวาง และการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา ใบหน้าหรือศีรษะ
  14. อ่านหนังสือและดูโทรทัศน์ได้ แต่ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกแสบตา
  15. มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  16. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตามาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่หาย หรือมีขี้ตามาก ตาแดง ตาบวมมากขึ้น ตามัวลงกว่าเดิม คลื่นไส้อาเจียน และถ้าโดนกระแทกบริเวณทำผ่าตัด ควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด ไม่ควรซื้อยาตามร้านขายยามาหยอด หรือรับประทานเอง
  17. แพทย์จะแนะนำการประกอบแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือหลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน หรือตามคำแนะนำของแพทย์

การหยอดยา

1. ดึงเปลือกตาล่างลง 

2. เหลือบตามองขึ้นด้านบน หยอดยา 1-2 หยดลงในกระพุ้งตา ระวัง! อย่าให้ปลายขวดยาสัมผัสกับสิ่งใด

3. กระพริบตา 1-2 ครั้ง แล้วหลับตา 3-5 นาที

การป้ายตา

ป้ายจากหัวตาไปหางตา ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กระพริบตา 1-2 ครั้ง แล้วหลับตา

ข้อควรทราบ

-        ล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยอดยา/ป้ายยา

-        ยาหยอดตาที่เปิดขวดแล้ว มีอายุ 1 เดือน

-        ถ้ามียาหยอดตาที่ต้องหยอดพร้อมกัน ให้หยอดห่างกัน 5-10 นาที

-        ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็น

-        ท่านอาจได้รับอันตราย หากซื้อยาหยอดตามาใช้เอง  โดยไม่ได้ปรึกษาจักษุแพทย์


Call Center : 0-5393-6900-1/ คลินิกจักษุ : 0-5393-6948
Line iD : @sriphatcenter