ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration) AMD



ผศ.นพ.ณวัฒน์  วัฒนชัย

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-011-R-00

 

 


โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ


         โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration, AMD) เป็นการเสื่อมของจุดรับภาพในผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี โรคนี้จะทำให้ตามัวลง สูญเสียความคมชัดของภาพ อาจมีเงาดำบังหรือเห็นภาพบิดเบี้ยวตรงกลางร่วมด้วย





ชนิดของโรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ


แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ



1. ชนิดแห้ง (Dry AMD) (ชนิดไม่มีหลอดเลือดที่งอกผิดปกติ)  ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการตามัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากการมีของเสียสะสมในจุดรับภาพเป็นระยะเวลาหลายปี บางรายอาจพัฒนาต่อไปเป็นชนิดเปียกได้


2. ชนิดเปียก (Wet AMD) (ชนิดมีหลอดเลือดที่งอกผิดปกติ) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการตามัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายมีการสร้างหลอดเลือดที่เปราะผิดปกติใต้จอตา ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะแตกรั่วได้ง่าย ทำให้จอรับภาพบวม เสื่อมสภาพ การมองเห็นเลวลงอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่รักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ตาบอดได้ในเวลาไม่กี่เดือน




ปัจจัยเสี่ยง


         โรคจุดรับภาพเสื่อม พบมากขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะและพฤติกรรมบางอย่างเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค AMD คือ


-  กรรมพันธุ์


-  โรคประจำตัวบางโรค อาจทำให้อาการแย่ลงเร็วขึ้น หรือวินิจฉัยยากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เบาหวาน


   - การสูบบุหรี่


-  หากมีตาข้างหนึ่งเป็นโรค AMD อยู่แล้ว ตาอีกข้างจะมีโอกาสเป็นสูงขึ้น


-  อาหาร ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด




ผลกระทบ


         ผู้ป่วยโรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ จะประสบปัญหาที่สำคัญ คือ ไม่สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันที่ต้องอาศัยความคมชัดของการมองเห็น เช่น อ่านหนังสือ ดูนาฬิกา ขับรถหรือแม้แต่ข้ามถนน จนอาจจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการทำกิจวัตรบางอย่าง นอกจากนี้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น หกล้มกระดูกหัก และอาจจะเกิดภาวะเครียดวิตกกังวลจากการมองเห็นผิดปกติ ตลอดจนกระทบต่อหน้าที่การงาน

 



การรักษา


         โรคจุดรับภาพเสื่อม จะทำให้เกิดความเสียหายถาวรในบางราย ไม่สามารถจะรักษาเพื่อให้เห็นได้ดีเหมือนเดิม การรักษาโรคนี้ จึงมักเป็นการรักษามุ่งป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น และสงวนระดับการมองเห็นที่เหลืออยู่ไม่ให้แย่ลง ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยผู้ป่วยได้ดีที่สุด คือ การตรวจพบอาการแต่เนิ่นๆ แล้วรีบทำการรักษา ก่อนที่จะตาบอดไป




 

วิธีการรักษาโรคจอรับภาพเสื่อมชนิดแห้ง


         เป้าหมายหลักของการรักษาคือ ป้องกันไม่ให้โรครุกลามไปเป็นชนิดเปียก แพทย์จึงมักจะแนะนำให้รักษาสุขภาพให้สมบูรณ์ หลีกเลี่ยงการรับแสงแดดเป็นเวลานาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ Antioxidant ซึ่งมีมากในผักผลไม้ เช่น มะละกอสุก ส้ม ฝรั่ง มีการศึกษาหลายรายงาน พบว่าการทานวิตามินรวม อาจช่วยชะลอโรคในผู้ป่วยบางรายได้




 

วิธีการรักษาโรคจอรับภาพเสื่อมชนิดเปียก


        สำหรับโรค AMD ชนิดเปียก ซึ่งเป็นชนิดที่มีหลอดเปราะแตกรั่วใต้จุดรับภาพ ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาอยู่ 2 วิธี ซึ่งหลักการรักษาทั้งสองวิธี คือ การปิดหลอดเลือดที่แตกรั่วเหล่านี้

มี 2 วิธี คือ


         1. การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา แพทย์จะฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาทุก 1 เดือนในระยะแรก และฉีดยาห่างออกเมื่อควบคุมการแตกรั่วของเส้นเลือดได้ดี ปัจจุบันจักษุแพทย์มักเลือกใช้วิธีนี้เป็นทางเลือกแรก เนื่องจากมักตอบสนองการรักษาดี



        2. การฉายเลเซอร์รักษาจุดรับภาพ แพทย์จะฉายเลเซอร์เพื่อปิดเส้นเลือดที่เปราะ ปัจจุบันมักเลือกใช้เป็นทางเลือกร่วม หากการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ดีพอ




 

พยากรณ์โรค


        การกลับมามองเห็นหรือไม่ของตาแต่ละข้างที่มีโรคนี้ จะขึ้นกับความรวดเร็วในการรักษา และความรุนแรงของโรค หากตรวจพบแต่เนิ่น และรักษาทันท่วงที ก็มักจะป้องกันภาวะสายตาเลือนรางหรือตาบอดได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่


         ** เป้าหมายการรักษาโรค AMD คือ ตรวจพบเร็ว รักษาเพื่อชะลอและป้องกันภาวะตาบอดถาวร



Call Center : 0-5393-6900-1/ คลินิกจักษุ : 0-5393-6948
Line iD : @sriphat