ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ต้อกระจกและวิธีการรักษา




ผศ.นพ.ณวัฒน์  วัฒนชัย (จักษุแพทย์)

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-007-R-00


      เมื่อคนเราเริ่มจะสูงอายุขึ้น ก็จะเริ่มเกิดการเสื่อมตามอวัยวะต่างๆ เช่น ข้อเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อม สมองเสื่อม หูตึง หากเกิดที่ตาโดยเฉพาะเลนส์ตาจะทำให้ตามัว เรียกว่า ต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่เลนส์แก้วตาที่อยู่ภายในลูกตาขุ่น ทำให้ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด  อ่านหนังสือไม่ชัด อาการจะเป็นอย่างช้าๆ  จนกระทั่งไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันเป็นปกติได้ จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ


อาการของต้อกระจก มีดังนี้


ตามัว ฝ้า คล้ายมีหมอกบัง


แพ้แสงเวลาออกกลางแจ้งตาจะพร่า


เวลาขับรถกลางคืน ตาจะพร่ามากเห็นไฟหน้ารถแตกเป็นแฉก


อ่านหนังสือต้องใช้แสงจ้าๆ


สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย   



ปัจจัยเสี่ยง


       ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ อายุ พบว่าผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี จะมีต้อกระจกอยู่แล้วบางส่วน ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่


- โรคเบาหวาน


- ประวัติครอบครัวเป็นต้อกระจก


- เคยได้รับอุบัติเหตุที่ตา


- การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์


- เจอแสงแดดมาก


- สูบบุหรี่



การคัดกรอง


- อายุ 40-50 ปี ควรตรวจตาทุก 2-4 ปี


- อายุมากกว่า 50 ปี และผู้ที่เป็นเบาหวานควรตรวจทุก 1-2 ปี


- ตรวจตาเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ตามัว แพ้แสง ฯลฯ



การรักษา


     การรักษาต้อกระจกถ้าเป็นไม่มาก การเปลี่ยนแว่นตาอาจช่วยให้สายตาดีขึ้นได้ แต่ถ้ามีอาการตามัวมากๆ ควรได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นมัวออก วิธีการผ่าตัดทำได้ 2 วิธี


-  Phacoemulsification (การสลายต้อโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง) เป็นวิธีที่นิยมที่สุด โดยการเจาะรูเล็กๆ แล้วใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) สลายเลนส์และดูดออก


-  Extracapsular โดยการผ่าตัดด้วยมือ เป็นแผลเล็กๆ แล้วเอาเลนส์ที่ขุ่นออก แล้วทำการเย็บเพื่อปิดแผล


       หลังจากเอาเลนส์เดิมออกแล้ว แพทย์ก็จะใส่เลนส์เทียมเข้าแทนที่เลนส์เดิม หลังผ่าตัดอาจจะมีอาการระคายเคืองตา  และจะต้องใส่ฝาครอบตาป้องกันการขยี้ตา 1-2 สัปดาห์ และมีความจำเป็นต้องสวมแว่นตาสำหรับการอ่านหนังสือ เนื่องจากเลนส์ที่ใส่เข้าไป จะมองเห็นได้ชัดในระยะไกลเท่านั้น การอ่านหนังสือจึงจำเป็นต้องใส่แว่นตาช่วยในการมองเห็นระยะใกล้



หลังผ่าตัดหากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมาพบแพทย์


- ตามองไม่เห็น หรือตามัวลงกว่าเดิม


- ปวดตาตลอด


- ตาแดงมากขึ้น มีขี้ตามาก


- เห็นแสงแว่บๆ ในตาคล้ายแสงแฟลช


- คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะมาก



การป้องกัน


- งดสูบบุหรี่


- หลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์

ต้อกระจกที่เป็นมาก อาจเกิดต้อหินแทรกซ้อน และทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น



Call Center : 0-5393-6900-1/ คลินิกจักษุ : 0-5393-6948
Line iD : @sriphat