ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ต้อเนื้อ/ต้อลมและวิธีการรักษา




ผศ.พญ.ธิดารัตน์  ลีอังกูรเสถียร

ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รหัสเอกสาร PI-IMC-395-R-00

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566

 

ต้อเนื้อ


เป็นโรคที่เกิดกับตาชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยม ยื่นจากขอบตาดำเข้าไปบนตาดำ พบได้บริเวณหัวตา และหางตา แต่ส่วนใหญ่พบบริเวณหัวตามากกว่า

 


ต้อลม

คล้ายกับต้อเนื้อ มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อเหลืองๆ นูนขึ้นมาบริเวณขอบตาดำ โดยยังไม่ลุกลามเข้าไปบนตาดำ พบได้บริเวณหัวตาและหางตา ตำแหน่งเดียวกับต้อเนื้อ

 


าเหตุของต้อเนื้อและต้อลม


1. แสงแดด


2. ลม


3. ความร้อน


4. ควัน ฝุ่น หรือสารระคายเคืองทางตาอื่นๆ



อาการและอาการแสดง


        จะเห็นเป็นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมหรือเนื้อนูนดังกล่าวข้างต้น โดยหากมีการอักเสบ จะเห็นเนื้อเยื่อแดงและบวมชัดเจนขึ้น มีอาการเคือง น้ำตาไหล และหากปล่อยให้มีการอักเสบบ่อยๆ จะทำให้เนื้อเยื่อค่อยๆ โตยื่นเข้าไปบนตาดำ ทำให้บังสายตาและตามัวลงได้



การป้องกันและการรักษา


        การป้องกันและการรักษาที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาสัมผัสปัจจัยกระตุ้นการเกิดต้อเนื้อและต้อลม คือ


1. หลีกเลี่ยงแสดงแดดเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง โดยการสวมใส่แว่นตากันแดดที่กันรังสียูวีได้ หมวกปีกกว้างหรือ กางร่ม


2. หลีกเลี่ยงลมปะทะดวงตา เช่น พัดลม แอร์ในรถ การขับขี่รถจักรยานยนต์ ควรสวมหมวกกันน๊อคแบบเต็มใบ


3. หลีกเลี่ยงไอร้อน ควัน ฝุ่น


- การรักษาหากเกิดการอักเสบ ให้ใช้ยาหยอดตามคำสั่งแพทย์


- ในรายที่ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ ลามเข้าไปบนตาดำจนบังสายตา ตามัวลง หรือมีการอักเสบบ่อยครั้ง สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก



การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อเนื้อ


1. ห้ามให้น้ำเข้าตา 2 สัปดาห์


2. สวมใส่ฝาครอบตาหรือแว่นตา เพื่อป้องกันการถูขยี้ดวงตาโดยไม่รู้ตัว


3. หยอดยาตามแพทย์สั่งและตรวจติดตาม


4. หลังผ่าตัดแล้วยังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการเกิดต้อเนื้อและต้อลม เพราะสามารถกลับเป็นซ้ำได้



การหยอดยา


1. ดึงเปลือกตาล่างลง

 


2. เหลือบตามองขึ้นด้านบน หยอดยา 1 หยดลงในกระพุ้งตา

ระวัง! อย่าให้ปลายขวดยาสัมผัสกับสิ่งใด


3. หลับตาไว้สักครู่หลังหยอดยาลงตา โดยใช้กระดาษเช็ดหน้าซับยาส่วนเกินเบาๆ


การป้ายตา



ป้ายจากหัวตาไปหางตา ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กระพริบตา 1 - 2 ครั้ง แล้วหลับตา



ข้อควรทราบ


-  ล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยอดยา/ป้ายยา


ยาหยอดตาที่เปิดขวดแล้ว มีอายุ 1 เดือน


ถ้ามียาหยอดตาที่ต้องหยอดพร้อมกัน ให้หยอดห่างกัน 5 - 10 นาที และใช้ยาหยอดก่อนยาป้ายตา


ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็น


ท่านอาจได้รับอันตราย หากซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยไม่ได้ปรึกษาจักษุแพทย์