ศ.ดร.พญ.เกษรา พัฒนพิฑูรย์
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-010-R-00
อนุมัติวันที่ 11 กรกฎาคม 2559
ต้อหินคืออะไร ? ทำไมจึงเรียกว่าต้อหิน ? หมายความว่ามีหินในลูกตาหรือไม่ ?
ต้อหินเป็นภาวะที่มีการทำลายของเส้นประสาทตา มักเกิดจากการที่มีความดันลูกตาที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้ตาบอดถาวรได้ อย่างไรก็ตามบางครั้งความดันลูกตาไม่สูงก็อาจเป็นต้อหินได้ โรคต้อหินไม่ได้หมายความว่ามีหินอยู่ในลูกตา แต่การมีความดันลูกตาสูงขึ้นกว่าปกติ จนทำให้ลูกตาแข็งคล้ายหิน อันเป็นที่มาของชื่อ
การมองเห็นปกติ
การมองเห็นของผู้ป่วยต้อหิน
ภาพประกอบจาก http://www.medicalnewstoday.com/articles/9710.php
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นต้อหิน ? ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง ? การใช้สายตามากๆ การโดนแสง หรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้เป็นต้อหินได้หรือไม่ ?
ต้อหินเป็นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด หนุ่มสาว และผู้สูงวัย แต่พบได้บ่อยกว่าในผู้สูงอายุ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่
- การมีความดันลูกตาสูง (ค่าปกติโดยทั่วไปมักไม่เกิน 21 mmHg)
- อายุที่มากขึ้น (โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
- การมีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน เนื่องจากโรคนี้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
- ภาวะสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น หรือสายตายาวมากๆ
- การมีอุบัติเหตุที่ดวงตามาก่อน
- เป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ
- การใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ในทุกๆ รูปแบบ
- การเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดตาอื่นๆ
- การมีความผิดปกติที่ส่วนอื่นของตา เช่น ลูกตาอักเสบ ต้อกระจกที่สุก เป็นต้น
- การใช้สายตามากๆ การโดนแสงแดดหรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ไม่ทำให้เป็นโรคต้อหิน
เราควรไปตรวจตาว่าเป็นต้อหินหรือไม่ ? เมื่อไหร่ ?
หากมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง ไม่ว่าท่านจะมีอายุเท่าไหร่
หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ควรตรวจตา โดย
- อายุน้อยกว่า 40 ปี ควรตรวจตาทุก 2 – 4 ปี
- อายุ 40 - 45 ปี ควรตรวจตาทุก 1 - 3 ปี
- อายุ 55 - 64 ปี ควรตรวจตาทุก 1 - 2 ปี
- อายุ 65 ปี ควรตรวจตาทุก 6 เดือน – 1 ปี
ต้อหินมีอาการอย่างไร ?
- กรณีที่ความดันลูกตาค่อยๆ ขึ้น ช่วงแรกอาจไม่มีอาการใดๆ เลย อาจรู้สึกปวดศีรษะหรือปวดตาเล็กน้อย หากไม่ได้รับการรักษา ในระยะหลังจะมีอาการตามัวลง ลานสายตาแคบลง ทำให้ชอบเดินชนสิ่งของ สุดท้ายตาจะบอดไปในที่สุด ต้อหินจึงถือได้ว่าเป็นมหันตภัยร้ายเงียบ
- กรณีที่ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดอาการปวดตา ตามัว เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟขึ้นได้
สาเหตุของต้อหินคืออะไร ? โรคต้อหินมีกี่ชนิดอะไรบ้าง ?
ภายในตาของคนเรานั้นจะมีส่วนที่เรียกว่าช่องหน้าตาที่บรรจุของเหลวในตา ทำหน้าที่นำสารจำเป็นหล่อเลี้ยงแก่เนื้อเยื่อตา ปกติแล้วการสร้างของเหลวในตานี้จะสมดุลกับอัตราการไหลออก ทำให้เรามีระดับความดันลูกตาที่เป็นปกติ แต่ในภาวะต้อหิน ของเหลวในตานี้จะไหลออกด้วยอัตราที่ลดลง ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น (ของเหลวในตานี้ไม่ใช่น้ำตาซึ่งอยู่ภายนอกลูกตา) หลักๆ แล้ว โรคต้อหินมี 2 ชนิด คือ ต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิด
ต้อหินมุมเปิด เกิดจากการที่ทางระบายน้ำในลูกตา ไม่สามารถระบายน้ำในลูกตาออกได้ (นึกถึงท่อระบายน้ำที่ตัน) มักไม่มีอาการ ต่อมาจะมีอาการตามัว ส่วนต้อหินมุมปิด เกิดจากการที่ทางระบายน้ำในลูกตานั้นถูกปิด (นึกถึงฝาท่อระบายน้ำที่ถูกปิด) ทำให้มีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนขึ้นมาเฉียบพลัน
การวินิจฉัยต้อหินทำได้อย่างไร ? ทำไมต้องทำการตรวจทดสอบมากมาย ?
เพื่อการวินิจฉัยต้อหินที่ถูกต้องและเป็นการติดตามการรักษาโรค จักษุแพทย์จะทำการตรวจวัดความดันลูกตา วิเคราะห์และถ่ายรูปขั้วประสาทตา วัดลานตา ดูมุมลูกตา บางครั้งอาจจำเป็นต้องวัดความหนากระจกตา ในบางครั้งการวินิจฉัยโรคต้อหินแบบแน่นอนชัดเจนนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน เป็นเพียงการสงสัยว่าจะมีโรคต้อหิน จักษุแพทย์จึงต้องตรวจตาโดยละเอียด การตรวจทดสอบเหล่านี้เป็นระยะ จะทำให้แพทย์ติดตามการดำเนินของโรคได้ว่าแย่ลงหรือไม่
ต้อหินหายขาดหรือไม่
การวินิจฉัยและรักษาต้อหินตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะเป็นการป้องกันไม่ให้ตาบอด อย่างไรก็ตาม สายตาหรือการมองเห็นส่วนที่เสียไปแล้วนั้น ไม่สามารถทำให้กลับคืนมาได้ ดังนั้นต้อหินจึงเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการควบคุมความดันลูกตาและต้องตรวจตาเป็นระยะแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยใช้ยาหยอดตา เลเซอร์หรือการผ่าตัดก็ตาม
ต้อหินรักษาอย่างไร ? เราควรปฏิบัติตัวเช่นไร ?
หลักการคือการควบคุมความดันลูกตาให้เหมาะสม โดยการ 1.ใช้ยาหยอดตา 2.เลเซอร์ 3.การผ่าตัด (ซึ่งจะไม่ได้ทำให้การมองเห็นดีขึ้น) การเลือกวิธีการรักษานั้นขึ้นกับความเหมาะสมของชนิดและความรุนแรงของโรค หัวใจสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องตระหนักถึงความสำคัญของต้อหิน ให้ความร่วมมือกับแพทย์ โดยการใช้ยาหยอดตาสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา มาพบแพทย์ตามนัด และนำยาที่ใช้อยู่ติดตัวไปด้วยทุกครั้ง หากมีผลข้างเคียงจากยาควรรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ควรควบคุมโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง (ถ้ามี) งดดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ ทานผักและผลไม้เป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส
การนวดตาสามารถรักษาต้อหินได้หรือไม่ ?
ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจน ว่าการนวดตาจะรักษาต้อหินได้ การนวดตานั้นอาจทำให้ความดันลูกตาลดลงเพียงชั่วคราว ดังนั้นจึงไม่เพียงพอในการรักษาระยะยาว นอกจากนี้การนวดตายังอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ เช่น หลอดเลือดจอตาอุดตัน จอตาลอก เลนส์ตาเคลื่อน ความดันตาสูงทำให้ต้อหินเป็นมากขึ้น เป็นต้น
ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ ต่างจากต้อหินอย่างไร ?
ต้อกระจก คือ การเสื่อม (ขุ่น) ของเลนส์ตา
ต้อลม เป็นการเสื่อมของเยื่อบุตาขาว หากลามเข้ามาที่กระจกตา จะเรียกว่า ต้อเนื้อ